การวิเคราะห์อภิมานเกี่ยวกับโปรแกรมเพศศึกษาสำหรับเยาวชนในประเทศไทย

Authors

  • เพชรน้อย สิงห์ช่างชัย
  • ปราโมทย์ ทองสุข
  • ปาณิศา หมวดเอียด

Abstract

โปรแกรมเพศศึกษาที่สามารถนำไปใช้ได้จริงสำหรับเยาวชนที่อยู่ในสถานศึกษา คลินิก ชุมชนต้องมีแนวโน้มที่มีการจัดกระทำหรือมีลักษณะโปรแกรมที่ช่วยลดความเสี่ยงพฤติกรรมทางเพศได้ การวิเคราะห์อภิมานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ลักษณะงานวิจัยและขนาดอิทธิพลของลักษณะงานวิจัยโปรแกรมเพศศึกษาสำหรับเยาวชนที่ส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของเยาวชนในประเทศไทย ประชากร คือ งานวิจัยเกี่ยวกับโปรแกรมเพศศึกษาสำหรับเยาวชน จำนวน 29 เรื่อง โดยมีเกณฑ์การเลือกรายงานวิจัย 4 ข้อ คือเป็นการวิจัยทดลองหรือกึ่งทดลอง การวิจัยต้องเป็นวิจัยมีกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง เป็นรายงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเพศศึกษาสำหรับเยาวชน และมีการเผยแพร่รายงานระหว่าง พ.ศ. 2543-2552 เก็บข้อมูลโดยใช้แบบประเมินคุณภาพงานวิจัยและแบบบันทึกคุณลักษณะงานวิจัยตามวิธีการของจาแดดและคณะตรวจสอบคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ใช้สถิติเชิงพรรณนา และใช้โมเดลสถิติการสุ่มแบบคงที่(fixed effects model) ทดสอบความมีนัยสำคัญของขนาดอิทธิพล (effect size) ด้วยค่าสถิติ Z-test

ผลการวิจัย พบว่า หน่วยงานที่ทำงานวิจัยโปรแกรมเพศศึกษาสำหรับเยาวชนส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัย (n=18) ช่วงเวลาที่มีรายงานวิจัยเกี่ยวกับโปรแกรมเพศศึกษาสำหรับเยาวชนมากที่สุด คือระหว่าง พศ. 2548-2552 (n=20) ด้านเนื้อหาสาระงานวิจัยส่วนใหญ่มีการใช้ทฤษฎีแบบบูรณาการคือใช้ทฤษฎีมากกว่าหนึ่งทฤษฎี (n = 19) โดยใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมมากสุด (n = 9) ส่วนใหญ่ใช้วิธีการอภิปรายกลุ่ม (n = 20) การติดตามผลใช้วิธีวัดผลลัพธ์หลังสิ้นสุดโปรแกรมมากที่สุด (n = 11)ตัวแปรอิสระ (intervention) เน้นการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษามากที่สุด (n = 12) รองลงมาคือด้านเจตคติเรื่องเพศ (n =10) และพฤติกรรมเรื่องเพศ (n= 5) การวัดตัวแปรตามที่ใช้วัดผลลัพธ์สุขภาพ คือ วัดความรู้การป้องกันมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย (n=12) และทักษะชีวิต (n= 7) การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามมากที่สุด (n= 19) วิเคราะห์คุณภาพเครื่องมือด้วยหาค่าความเที่ยงตั้งแต่ 0.7 ขึ้นไป (n=29) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในสถานศึกษา (n = 24) ใช้ตัวอย่างคือนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมากที่สุด (n=12)ส่วนใหญ่ใช้ขนาดตัวอย่าง 30-60 คน (n=22) นิยมใช้การสุ่มตัวอย่างแบบสุ่มเข้ากลุ่ม (n = 16) ใช้สถิติทดสอบที (t-test) โดยมีการตั้งสมมติฐานแบบทางเดียว (n=20) มากที่สุด

เมื่อวิเคราะห์ค่าขนาดอิทธิพลพบว่าคุณลักษณะของโปรแกรมเพศศึกษาที่ส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพของเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) มี 4 ลักษณะ ได้แก่ การใช้ทฤษฎีหลายทฤษฎี(WES = 0.49) การใช้วิธีการอภิปรายแบบกลุ่มย่อยมีขนาดอิทธิพลสูงที่สุด (WES = 0.53) โปรแกรมเพศศึกษาที่มีองค์ประกอบรวมทั้งด้าน พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัยมีขนาดอิทธิพลสูงสุด (WES =0.48) และจำนวนแผนการสอน 6-8 แผนมีขนาดอิทธิพล (WES = 0.31) มากกว่าการใช้จำนวนแผน1-4 แผน (WES=0.16)

นักวิจัยที่สนใจจึงควรออกแบบโปรแกรมเพศศึกษาสำหรับเยาวชน ควรคำนึงถึงคุณลักษณะของโปรแกรมเหล่านี้ซึ่งส่งผลต่อความสำเร็จของการวิจัยในเรื่องเพศศึกษาสำหรับเยาวชน

คำสำคัญ: การวิเคราะห์อภิมาน โปรแกรมเพศศึกษา เยาวชน

Downloads

Published

2012-09-14

How to Cite

1.
สิงห์ช่างชัย เ, ทองสุข ป, หมวดเอียด ป. การวิเคราะห์อภิมานเกี่ยวกับโปรแกรมเพศศึกษาสำหรับเยาวชนในประเทศไทย. J Thai Nurse midwife Counc [Internet]. 2012 Sep. 14 [cited 2024 Apr. 25];26(4):5. Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/TJONC/article/view/2732