ปัจจัยภาวะน่าสบายทางอุณหภูมิ สำหรับสภาพแวดล้อมที่ใช้การระบายอากาศ โดยวิธีธรรมชาติ ภายในศูนย์นันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ

Main Article Content

นุชนภางค์ แก้วนิล

Abstract

          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อภาวะน่าสบายทางอุณหภูมิของผู้สูงอายุ สำหรับพื้นที่ประกอบกิจกรรมนันทนาการ โดยดำเนินการศึกษาศูนย์นันทนาการ 2แห่งที่ใช้เป็นตัวแทนของสภาพแวดล้อมทางกายภาพโดยรอบพื้นที่ประกอบกิจกรรมที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย 1) ชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์บริการสาธารณสุข 19 วงศ์สว่าง (ตัวแทนศูนย์นันทนาการในเมือง) สภาพแวดล้อมแบบมีอาคารปิดล้อมหนาแน่น และ2) ชมรมผู้สูงอายุโรงพยาบาลสิรินธร (ตัวแทนของศูนย์นันทนาการนอกเมือง) สภาพแวดล้อมแบบมีอาคารปิดล้อมเบาบาง ส่วนรูปแบบพื้นที่ใช้ประกอบกิจกรรมของผู้สูงอายุนั้นมีลักษณะเป็นลานกึ่งเปิดโล่งตั้งอยู่ชั้นล่างของตัวอาคารและใช้การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติทั้ง 2ศูนย์นันทนาการ ทำการเปรียบเทียบระดับการรับรู้และระดับความพึงพอใจของผู้สูงอายุ ในประเด็นของการชดเชยภาวะน่าสบายทางอุณหภูมิด้วยแรงลมในแต่ละกิจกรรม วิธีดำเนินการวิจัยในแต่ละศูนย์นันทนาการกำหนดให้มีกระบวนการศึกษาในรูปแบบเดียวกันจำนวน 6ขั้นตอน ขั้นตอนแรกก่อนการเก็บข้อมูล ทีมผู้วิจัยได้ทำการสำรวจ บันทึกรูปแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพด้วยภาพถ่าย ร่างผังพื้นและการจดบันทึก ขั้นตอนที่2 ติดตั้งอุปกรณ์ทั้งเครื่องมือการทดสอบชดเชยภาวะน่าสบายทางอุณหภูมิด้วยแรงลมคือ พัดลม และอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ ความชื้นและแรงลม ขั้นตอนที่3 คณะวิจัยได้ทำการแนะนำตัวและอธิบายทำความเข้าใจแก่ผู้สูงอายุถึงขั้นตอนและประเด็นความพึงพอใจที่ต้องการให้ผู้สูงอายุ สังเกตและจดจำการรับรู้ที่เกิดขึ้นในระหว่างดำเนินกิจกรรม ขั้นตอนที่4 เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลขณะที่ผู้สูงอายุนั่งพักรอ ด้วยวิธีการสัมภาษณ์ข้อมูลด้านคุณลักษณะประชากรของผู้สูงอายุเป็นรายบุคคล ขั้นตอนที่5 เริ่มทำการทดสอบด้วยการประกอบกิจกรรมภายในศูนย์นันทนาการภายใต้ปัจจัยสภาวะน่าสบายที่แตกต่างกัน ซึ่งมี 2ตัวแปรสำคัญในการวิจัย ประกอบด้วย 1) ระดับความเร็วลมที่แตกต่างกันใน 3ระดับดังนี้ แรงลมธรรมชาติ แรงลมไม่เกิน 1 เมตร/วินาที และ แรงลมไม่เกิน 1.5 เมตร/วินาที และ 2) กิจกรรมที่มีระดับการเผาผลาญของร่างกายที่แตกต่างกัน 3ระดับ กิจกรรมที่มีการเผาผลาญน้อย 0-1.0 met (สวดมนตร์, นั่งสนทนา), กลาง 1.1-2.0met (ทำงานฝีมือ, ร้องเพลง),  มาก 2.1-3.0met (ทำอาหาร, แอโรบิค ) และขั้นตอนสุดท้าย ทำการเก็บข้อมูลโดยเน้น 2ประเด็นหลักคือ ประเด็นการรับรู้และความพึงพอใจ โดยสอบถามถึงการรับรู้ถึงระดับการชดเชยภาวะน่าสบายทางอุณหภูมิด้วยความเร็วลม และระดับความพึงพอใจในแต่ละความเร็วลมต่อกิจกรรม ผลการวิจัยพบความสอดคล้องกับการศึกษา ที่ระบุถึง 2ปัจจัยหลักของการรับรู้ภาวะน่าสบาย คือระดับการเผาผลาญของแต่ละประเภทกิจกรรม และความต้องการการชดเชยด้วยแรงลมนั้นแปรผันตามกัน กล่าวคือประเภทกิจกรรมที่มีการเผาผลาญมากผู้สูงอายุต้องการแรงลมที่สูงขึ้นเพื่อมาชดเชยความน่าสบาย แต่ในการศึกษานี้ได้ทำการเปรียบเทียบสภาพแวดล้อมโดยรอบที่มีอาคารหนาแน่นและเบาบางอีกปัจจัยหนึ่ง ทำให้เห็นว่าในพื้นที่ที่สภาพแวดล้อมโดยรอบหนาแน่นจะต้องการการชดเชยด้วยแรงลมในทุกระดับกิจกรรม ส่วนสภาพแวดล้อมโดยรอบที่มีอาคารปิดล้อมเบาบางนั้น ความต้องการการชดเชยด้วยแรงลมจะเริ่มต้นที่กิจกรรมที่มีการเผาผลาญปานกลางไปจนถึงกิจกรรมที่มีการเผาผลาญมาก เห็นได้ว่านอกจาก2ปัจจัยหลักข้างต้นแล้วผลการวิจัยยังเปิดเผยถึงปัจจัยการรับรู้ทางทัศนาการของสภาพแวดล้อมโดยรอบ ว่าส่งผลต่อความรู้สึกน่าสบายทางอุณหภูมิอีกปัจจัยหนึ่งด้วย ในอีกทางหนึ่งผลการศึกษาด้านความพึงพอใจในแต่ละความเร็วลมที่มีต่อกิจกรรมนั้น ผู้สูงอายุจะไม่ต้องการการชดเชยอุณหภูมิด้วยความเร็วลมในกิจกรรมย่อยด้านออกกำลังกายที่มีการเผาผลาญมากเช่น แอโรบิค ที่ต้องการให้มีเหงื่อเกิดขึ้นในขณะออกกำลังกาย ต่างกับกิจกรรมย่อยที่มีการเผาผลาญมากด้านอื่นๆ เช่นทำอาหาร หรือทำความสะอาดที่ไม่ต้องการให้มีเหงื่อขณะทำกิจกรรม จากผลการศึกษาข้างต้นพบว่านอกจาก 2ปัจจัยพื้นฐานคือระดับการเผาผลาญและประเภทกิจกรรมแล้ว รูปแบบสภาพแวดล้อมโดยรอบและระดับแรงลมที่มีผลกระทบต่อการทำกิจกรรมย่อย นั้นเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบภาวะน่าสบายทางอุณหภูมิสำหรับผู้สูงอายุอีกด้วย


               งานวิจัยในครั้งนี้เห็นได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าและมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามนโยบายของภาครัฐและสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ นอกจากนั้นหากผู้ออกแบบนำปัจจัยที่ค้นพบข้างต้นไปเป็นแนวทางในการออกแบบสภาพแวดล้อมให้สามารถเพิ่มแรงลมภายในอาคารได้โดยสอดคล้องกับกิจกรรมที่เกิดขึ้น ก็จะลดการใช้พลังงานในการใช้เครื่องปรับอากาศได้อีกทางหนึ่ง


 

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ