การวิเคราะห์ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหาร กรณีศึกษา นิคมอุตสาหกรรมบางชัน ลาดกระบัง สมุทรสาคร บางพลี และบางปู

Main Article Content

ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ
สุภาภร ภิญโญฉัตรจินดา

Abstract

          “จากครัวไทยสู่ครัวโลก” วลีที่คนไทยคุ้นหูและทั่วโลกยอมรับ เนื่องจากประเทศไทยมีความโดดเด่นในด้านรสชาดและความมั่นคงของอาหาร เป็นผลให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอาหารและมีความต้องการผลักดันให้มีการเติบโตเพื่อแสดงเอกลักษณ์ ความสามารถและความมั่นคงด้านอาหารของไทย ทั้งนี้การเติบโตดังกล่าวนั้นจะต้องควบคู่กันในเชิงปริมาณ คือ ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ และเชิงคุณภาพคือ ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม หรือเรียกอีกอย่างว่าการวัดประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจสำหรับการวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหารกรณีศึกษา นิคมอุตสาหกรรมบางชัน ลาดกระบัง สมุทรสาคร บางพลี และบางปู โดยประชากรของการวิจัย คือ บริษัทที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ลาดกระบัง สมุทรสาคร บางพลี และบางปู สำหรับกลุ่มตัวอย่างของการวิจัยผู้วิจัยใช้วิธีการคัดเลือกแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น เลือกแบบเจาะจง คือ บริษัทที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ภายในนิคมอุตสาหกรรมบางชัน ลาดกระบัง สมุทรสาคร บางพลี และบางปู จำนวนทั้งสิ้น 50 โรงงาน แต่เมื่อดำเนินการเก็บข้อมูลจริงได้ข้อมูลที่สมบูรณ์มาเพียง 47 โรงงาน ดังนั้นการสรุปผลการวิจัยจึงใช้จำนวน 47 โรงงาน หลังจากขั้นตอนการกำหนดขอบเขตการศึกษาวิจัยแล้วต่อไป คือ ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่การใช้พลังงานไฟฟ้า น้ำ และการปล่อยน้ำเสีย และข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ข้อมูลรายได้จากการดำเนินงาน


            จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลัง ในปี พ.ศ. 2554, 2555 และ 2556 พบว่า สถานประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร มีการเติบโตของตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ และตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไม่คงที่ เมื่อศึกษาแนวโน้มพบว่ามีแนวโน้มตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยพิจารณาถึงแนวปฏิบัติของสถานประกอบการ พบว่า สถานประกอบการให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นมากกว่าการให้ความสำคัญกับตัวเลขทางเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนสถานประกอบการตั้งแต่ฐานราก ได้แก่ การออกแบบดูแลพื้นที่ในโรงงานให้ตรงตามกฎหมายและกฎระเบียบ อื่นๆ มีการจัดสรรพื้นที่เพื่อสร้างแนวป้องกันอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติเพิ่มเติม มีความร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นในการสงวนรักษาทรัพยากรท้องถิ่นและความหลากหลายทางชีวภาพ และมีการจัดสรรพื้นที่สีเขียวในโรงงาน รวมทั้งมีการสร้างกลุ่มใน Social Network เพื่อแจ้งเตือนเมื่อเกิดปัญหา และคอยให้ข้อมูลต่างๆ ในเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนแต่ละโรงงานจะต้องมีการรายงานการตรวจมลภาวะด้านต่างๆ โดยรายงานทุกๆ 6 เดือน ในส่วนการจัดการขยะ บริษัทต้องรายงานให้นิคมอุตสาหกรรมรับรู้ถึงการนำออกจากโรงงาน ทั้งนี้ จากผลการศึกษายังพบว่า มี 2 ตัวแปรที่ทำให้ในช่วงปี พ.ศ. 2554, 2555 และ 2556 มีการเติบโตของตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม ที่ไม่คงที่ ได้แก่ การประสบอุทกภัยในปี 2554 และการเปลี่ยนผ่านทางความคิดของสถานประกอบการในการที่จะริเริ่มปรับปรุงและพัฒนาสถานประกอบการให้มีความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น


 

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ