การปรับตัวของเกษตรกรสวนมังคุดจังหวัดระนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรณีศึกษา : ชุมชนบ้านบกกราย ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง

Main Article Content

สวรรยา ธรรมอภิพล
นิวะภร สิทธิภักดี

Abstract

          การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบและการปรับตัวของเกษตรกรสวนมังคุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ศึกษากรณีชุมชนบ้านบกกราย ตำบลน้ำจืด อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิโดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกเกษตรกรที่มีภูมิลำเนาอาศัยในชุมชนบ้านบกกรายและประสบการณ์ทำสวนมังคุดเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี รวมจำนวน 6 ราย และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ข้อมูลเชิงคุณภาพจะนำมาตรวจสอบความครบถ้วนและความถูกต้องของข้อมูลแบบสามเส้าด้านวิธีการ จำแนกข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอผลการศึกษาแบบพรรณนาความ


            ผลการศึกษาข้อมูลทั่วไปของเกษตรกรผู้ให้ข้อมูล พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ประสบการณ์ทำสวนมังคุด 23 – 30 ปี มีทั้งที่ปลูกมังคุดเพียงชนิดเดียวและปลูกมังคุดร่วมกับผลไม้ชนิดอื่น เช่น เงาะและทุเรียน มีที่ดินถือครองเป็นของตนเองประมาณ  25 - 50 ไร่ และระดับการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น ลักษณะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เห็นได้ชัดเจนคือการมีฤดูแล้งและฤดูฝนที่ยาวนาน รวมถึงการเกิดพายุลมแรงกว่าในอดีต ผลกระทบและการปรับตัวด้านเศรษฐกิจ จากปริมาณผลผลิตมังคุดที่ลดลงและคุณภาพต่ำลงได้ส่งผลกระทบต่อรายได้ โดยเฉพาะรายที่ปลูกมังคุดเพียงชนิดเดียว เกษตรกรมีการปรับตัว 3 ลักษณะ คือ การปลูกพืชแบบผสมผสานร่วมกับมังคุด การหาอาชีพเสริม และการเปลี่ยนแปลงอาชีพในระยะสั้น ผลกระทบและการปรับตัวด้านสังคม จากการมีฤดูแล้งและฤดูฝนที่ยาวนานและไม่ตรงตามฤดูกาล รวมถึงพายุที่รุนแรง ส่งผลทำให้เกษตรกรย้ายพื้นที่เกษตรกรรมไปยังพื้นที่อื่นที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า และปรับเปลี่ยนลักษณะบ้านพักอาศัยแบบยกสูง ผลกระทบและการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม จากการชะล้างพังทลายและการสูญเสียหน้าดินน้ำท่วมพื้นที่ เกษตรกรปรับตัวโดยการฟื้นฟูคุณภาพดินด้วยการใส่ปุ๋ย ปลูกพืชคลุมดินและการปลูกทดแทนเพิ่มเติมที่เสียหาย

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ