การออกแบบสื่อเพื่อส่งเสริมคุณธรรมด้านความมีน้ำใจกรณีศึกษา: เด็กนักเรียนโรงเรียน วัดสังวรพิมลไพบูลย์ (จันทานุกูล) จังหวัดนนทบุรี (The Media Design to Enhance Generosity.Case Study: Pupils at Watsangwornpimonpaiboon School, Nonthaburi.)

Main Article Content

สมิหลา ลิ่มเจียสหพงษ์ (Samilha Limjiasahapong)
ประดิพัทธุ์ เลิศรุจิดำรงค์กุล (Pradiphat Lertrujidumrongkul)

Abstract

               จากการสำรวจต้นทุนชีวิตของเด็กและเยาวชนทั่วประเทศไทยในปี 2553 พบว่ามีความอ่อนแอในเรื่องของความมีน้ำใจที่เหลือเพียงร้อยละ 34 อีกทั้งยังถูกระบุอยู่ในคุณธรรมขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการ และในข้อที่ 6 ของค่านิยมหลัก 12 ประการตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกด้วย ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าความมีน้ำใจเป็นคุณธรรมที่สำคัญและควรปลูกฝังให้กับเด็กและเยาวชนไทย       


               การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อ 1) ค้นหาอัตมโนทัศน์ด้านความมีน้ำใจของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 2) ศึกษากิจกรรมทางศิลปะและการออกแบบตัวละครเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการทำกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2  และ 3) นำผลการศึกษาทั้งหมดมาออกแบบสื่อเพื่อส่งเสริมคุณธรรมด้านความมีน้ำใจ  สมมุติฐานการศึกษา คือสื่อและตัวละครในนิทานที่ออกแบบมาจากอัตมโนทัศน์ของเด็กเป็นแรงผลักดันให้เด็กมีน้ำใจกับคนอื่นๆ ในชีวิตจริง การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยมาจากการสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงจากเด็กปฐมวัยเพศชาย-หญิง อายุระหว่าง 5-6 ปี ชั้นอนุบาลปีที่ 2  โรงเรียนวัดสังวรพิมลไพบูลย์ (จันทานุกูล) จังหวัดนนทบุรี จำนวน 30 คน โดยผู้วิจัยได้สร้างกิจกรรมสำหรับเด็กปฐมวัยและมีการสังเกตพฤติกรรมความมีน้ำใจของเด็กร่วมด้วย


               ผลการวิจัยพบว่า จากการสอบถามคุณครูประจำชั้นของเด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 2 เด็กส่วนใหญ่ขาดความมีน้ำใจ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันสิ่งของให้กับเพื่อน การช่วยเหลือคุณครู เป็นต้น ผู้วิจัยจึงได้เลือกนิทานมาเป็นส่วนหลักเพื่อส่งเสริมคุณธรรมด้านความมีน้ำใจผ่านตัวละครในนิทานที่นำมาจากอัตมโนทัศน์ของเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 เนื่องจากพบว่าสิ่งของที่เด็กไม่ใช่เจ้าของ แต่เด็กให้ความสำคัญและอยากแบ่งปัน คือ หนังสือนิทาน และจากการทดสอบการให้สิ่งของของเด็กพบว่า เด็กมีการแบ่งปันสิ่งของที่สำคัญกับตัวเด็กเพียงร้อยละ 26.67 เท่านั้น ส่วนหนึ่งมาจากเด็กเขินอายและไม่กล้าแสดงออก ผู้วิจัยได้ทำกิจกรรมและสร้างสื่ออื่นๆ ผ่านงานศิลปะและการออกแบบเพื่อส่งเสริมคุณธรรมด้านความมีน้ำใจ โดยแบ่งชุดความมีน้ำใจ ออกเป็น 3 ชุด ได้แก่ 1. ชุดน้ำใจ…ใจแบ่งปัน 2. ชุดน้ำใจ…ใจช่วยเหลือ 3. ชุดน้ำใจ…ใจเสียสละ โดยในแต่ละชุดจะประกอบด้วย หนังสือนิทาน สมุดระบายสี และของเล่นประกอบหนังสือนิทาน  ทั้งนี้หนังสือนิทานเป็นสิ่งที่เด็กชอบและอยากแบ่งปัน เมื่อเด็กรู้จักและคุ้นเคยกับตัวละครในนิทานแล้ว  เด็กก็จะมีการแสดงออกของพฤติกรรมตามตัวละครที่ได้กลายเป็นตัวแบบสัญลักษณ์ตามกระบวนการเรียนรู้โดยการสังเกตจากตัวแบบของ Bandura ในการเรียนรู้จากสื่อนิทานทำให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านความมีน้ำใจ ซึ่งพบว่าเมื่อเป็นสิ่งของที่มีความสำคัญกับตัวเด็ก เด็กมีการแสดงออกถึงความมีน้ำใจเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 66.66  โดยเมื่อได้ทำกิจกรรมร่วมกันพร้อมสื่อ เด็กมีความกระตือรือร้นที่จะแสดงออกถึงการแบ่งปัน มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น และตัวละครในนิทานที่นำมาจากอัตมโนทัศน์ของเด็กปฐมวัยระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 เป็นแรงผลักดันให้เด็กมีน้ำใจกับคนอื่นๆ ในชีวิตจริงได้มากขึ้นด้วย

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ