แผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (Strategic Plan for Integrated Sustainable Health Tourism Development in Bangkok, Thailand)

Main Article Content

จิตติณชุลี บุญช่วย Jittinchulee Boonchuai
พยอม ธรรมบุตร (Payom Dhamabutra)

Abstract

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 2) สร้างแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย 3) ประเมินผลการนำแผนยุทธศาสตร์ไปดำเนินการโครงการนำร่องในชุมชนที่เป็นกรณีศึกษา ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้การวิจัยแบบปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) เครื่องมือวิจัยที่ใช้ได้แก่ รายการที่ต้องตรวจสอบของชุมชนศึกษา แบบตรวจสอบทรัพยากรท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แบบสัมภาษณ์เชิงลึก การประชุมกลุ่มย่อย การตรวจสอบข้อมูลแบบสามเส้า การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา โดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว รวม 40 คน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ศักยภาพการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย พบว่ากรุงเทพมหานครมีศักยภาพด้านทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้านการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน นักท่องเที่ยว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ด้านกิจกรรมการเรียนรู้และการปลูกจิตสำนึก ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การแปรรูป ระบบและกระบวนการเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ
2. แผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบบบูรณาการอย่างยั่งยืนในกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย มีวิสัยทัศน์ได้แก่ กรุงเทพมหานครสร้างแบรนด์เป็นศูนย์กลางการให้บริการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพแพทย์ทางเลือกครบวงจรแห่งโลก เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและกระจายรายได้ เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแพทย์ทางเลือกแห่งโลกทั้งมิติร่างกายและจิตใจ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมและพัฒนาจิตใจ เป็นศูนย์วิจัยและค้นคว้าด้านผลิตภัณฑ์แพทย์ทางเลือก 3 วิถี ไทย จีน อายุรเวท เพื่อพัฒนาสังคมโลกแบบบูรณาการ และเป็นเมืองนวัตกรรมสีเขียวด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแพทย์ทางเลือกวิถีธรรมชาติแห่งโลก เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ดังกล่าวจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาสังคมและชุมชนแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งมีกลยุทธ์การสร้างเครือข่ายเพื่อการสร้างความเข้มแข็ง และการกระจายรายได้ ยุทธศาสตร์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งมีกลยุทธ์การใช้ประโยชน์พื้นที่ และการจัดการทรัพยากร ยุทธศาสตร์ด้านพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นและกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งมีกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาด และการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และยุทธศาสตร์ด้านอนุรักษ์วัฒนธรรม และพัฒนาจิตใจ ซึ่งมีกลยุทธ์การพัฒนาจิตใจ และการอนุรักษ์วัฒนธรรม
3. ผลการประเมินผลการนำแผนยุทธศาสตร์ไปดำเนินการโครงการนำร่องในชุมชนท่าเตียน พบว่า ชุมชนได้พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับหนึ่ง และนักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจในสินค้าและบริการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของชุมชนท่าเตียน 


คำสำคัญ : แผนยุทธศาสตร์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ กรุงเทพมหานคร

Article Details

Section
Humanities, Social Sciences, and Arts