มโนทัศน์อิสรเสรีและความเสมอภาคในสื่อทัศนศิลป์ : กรณีศึกษาเนื้อหาและพื้นที่ จัดแสดงผลงานสื่อทัศนศิลป์ในประเทศไทย พ.ศ. 2556-2560 (Equality And Liberty In Fine Art: A Case Study Of Content And Art Space In Thailand During 2013-2017)

Main Article Content

ปวริส มินา (Pawaris Mina)
ณัฐภรณ์ สถิตวราทร (Nattaporn Sathitwarathorn)

Abstract

                บทความฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องมโนทัศน์อิสรเสรีและความเสมอภาคผ่านค่านิยมในสื่อทัศนศิลป์: กรณีศึกษาเนื้อหาและพื้นที่จัดแสดงผลงานสื่อทัศนศิลป์ในประเทศไทย พ.ศ. 2556-2560  ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ค่านิยมที่สะท้อนมโนทัศน์เรื่องอิสรเสรีและความเสมอภาคที่ปรากฏในสื่อทัศนศิลป์  โดยใช้กรณีศึกษาเนื้อหาของสื่อทัศนศิลป์และพื้นที่จัดแสดงผลงานสื่อทัศนศิลป์ในประเทศไทย  ทั้งที่อยู่ในสังกัดของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาคเอกชน รวม 11 แห่ง ผลการศึกษาพบว่าค่านิยมที่มีส่วนต่อการสร้างสรรค์ผลงานทัศนศิลป์
โดยพื้นฐานเกิดขึ้นจากเรื่องราวที่กระทบใจศิลปิน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเป็นเรื่องใกล้ตัว  ค่านิยมที่ส่งผลต่อการคัดเลือกผลงานเพื่อจัดแสดง ได้แก่ ค่านิยมในด้านการให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของศิลปิน ความสัมพันธ์ส่วนบุคคล  รสนิยมของผู้บริหารหน่วยงาน  เจ้าของพื้นที่  และภัณฑารักษ์  ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่เสมอภาคในการนำเสนอผลงานทางทัศนศิลป์  ในแต่ละพื้นที่ล้วนมีค่านิยมในด้านการให้ความสำคัญกับบุคคลใกล้ตัว บุคคลร่วมพื้นที่ทางวัฒนธรรม มากกว่าการเปิดพื้นที่ให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสจัดแสดงผลงานตามหลักการทางประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดอิสรเสรีและความเสมอภาค


               ปรากฏการณ์ทางศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2556-2560 แบ่งออกได้ 3 ช่วงเวลา ได้แก่ 1. ช่วงวิกฤตการณ์ทางการเมือง (พ.ศ.2556 – 2557)  เป็นช่วงเวลาที่ศิลปะถูกนำมาใช้เพื่อสื่อสารความคิดทางการเมืองเป็นจำนวนมาก  2. ช่วงเวลาการปกครองภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา (พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน)  พบว่าเนื้อหาของงานศิลปะในช่วงเวลานี้มีความหลากหลายมากขึ้น  ในช่วงเวลานี้งานศิลปะกลับสู่จุดมุ่งหมายเดิม คือ การสร้างสรรค์งานเพื่อสื่อสะท้อนความคิดความรู้สึกของศิลปินและการอธิบายปรากฏการณ์ของสังคม  และ 3. ช่วงเวลาแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  รัชกาลที่ 9 (พ.ศ. 2559-2560)  พบว่าศิลปะทำหน้าที่ในฐานะ Art Speech  ศิลปะกลายเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถสร้างได้  กลายเป็นเครื่องมือสร้างสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงพื้นฐานค่านิยมของคนไทยที่รวมใจกันเป็นหนึ่ง

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ