การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมเป็นแหล่งเรียนรู้ในวัดบวรนิเวศวิหาร

Main Article Content

เดชชาติ นิลวิเศษ
มณีวรรณ ผิวนิ่ม

Abstract

บทคัดย่อ

            บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เรื่อง ทรัพยากรวัฒนธรรมในวัดบวรนิเวศวิหารมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจ ประเมินและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าของทรัพยากรวัฒนธรรมด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ในวัดบวรนิเวศวิหาร และ เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคที่พบในการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ในวัดบวรนิเวศวิหาร ผู้วิจัยเลือกใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นเครื่องมือในการสัมภาษณ์พระและเจ้าหน้าที่วัดบวรนิเวศวิหาร และผู้ทรงคุณวุฒิ ใช้การสังเกตแบบมีส่วนร่วม และใช้แบบการประเมินคุณค่าทรัพยากรวัฒนธรรมในการสำรวจ และศึกษาจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง

          ผลการศึกษาพบว่าวัดบวรนิเวศวิหารมีลักษณะทางกายภาพ และมีทรัพยากรวัฒนธรรมประเภทต่างๆที่สามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี และทรงคุณค่าทั้งคุณค่าทางด้านศิลปกรรมและคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม การจัดรูปแบบการเป็นแหล่งเรียนรู้ในวัดบวรนิเวศวิหารมี 3 รูปแบบ ได้แก่1) การศึกษาในระบบ 2) การศึกษานอกระบบ และ 3) การศึกษาตามอัธยาศัย มีความสอดคล้องกันและเป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม วัดบวรนิเวศวิหารจัดให้มีการเผยแผ่ศาสนธรรมไปพร้อมกับการจัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้มาโดยตลอด การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภายในวัดบวรนิเวศวิหารในปัจจุบันมีแนวทางดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ 1) การจัดทัศนศึกษานำชมของจริงภายในวัดบวรนิเวศวิหาร 2) การจัดการพิพิธภัณฑ์วัดบวรนิเวศวิหาร 3) การดูแล อนุรักษ์ บูรณปฏิสังขรณ์ ทรัพยากรวัฒนธรรมต่างๆภายในวัด 4) การจัดทำเอกสารเผยแพร่ และ 5) การจัดทำเว็บไซต์วัดบวรนิเวศวิหาร ผลการวิจัยยังพบว่า ข้อจำกัดอันเป็นปัญหาและอุปสรรคในการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในวัดบวรนิเวศวิหาร คือ เนื่องจากวัดบวรนิเวศวิหารดำรงบทบาทเป็น  ศาสนสถาน ทำให้บทบาทด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้มีข้อจำกัด เช่น การขาดนโยบายอันเด่นชัด การจัดสรรงบประมาณ และผู้รับผิดชอบ จึงทำให้การจัดการทรัพยากรวัฒนธรรมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ยังไม่อาจพัฒนาได้สมบูรณ์เท่าที่ควร 

Article Details

Section
บทความ : มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ