การปรับตัวของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบทบ้านท่าบ่อ ตำบลแจระแม จังหวัดอุบลราชธานี

Main Article Content

คมสันต์ ธงชัย
สุชาดามณี บุญจรัส

Abstract

การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทชุมชนและสถานการณ์สาธารณสุขพื้นฐาน วิเคราะห์บทบาท ศักยภาพและขีดความสามารถของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และพัฒนารูปแบบการปรับตัวการทำงานด้านอนามัยชุมชนในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบทบ้านท่าบ่อ หมู่ที่ 2 ตำบลแจระแม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 ถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2558 โดยทีม อสม. นักวิจัยชุมชนจำนวน 55 คน ทำการเก็บรวบรวมและ วิเคราะห์ข้อมูล เติมเต็มความรู้ เพิ่มศักยภาพโดยการศึกษาดูงาน ทดลองปฏิบัติการและค้นหารูปแบบการปรับตัวเพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานให้กับ อสม. ในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท เครื่องมือในการเก็บข้อมูล ประกอบด้วยแบบสอบถาม การสัมภาษณ์เชิงลึก เทคนิคการเล่าเรื่อง การจัดเวทีและการสนทนา และการใช้เครื่องมืออนามัยชุมชน วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและการพรรณนาความ ด้วยหลักการวิเคราะห์แบบเปรียบเทียบและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง จากการศึกษา พบว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านท่าบ่อ หมู่ที่ 2 ประกอบด้วย คนในพื้นที่ดั้งเดิมและคนต่างถิ่น แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1) กลุ่มข้าราชการและพนักงาน 2) กลุ่มชุมชนดั้งเดิมอาชีพค้าขาย รับจ้างและเกษตรกร และ 3) กลุ่มนักศึกษาและแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่อาศัยอยู่ตามหอพัก สภาพชุมชนทั่วไปจัดเป็นชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท เพราะได้รับอิทธิพลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในชุมชนกับช่วงเวลาทำงานของ อสม.ไม่ตรงกัน ทำให้ อสม.ไม่สามารถเข้าถึงชุมชนกลุ่มเป้าหมายได้ รวมถึงชุมชนรับข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่างๆ สะดวกขึ้น จึงทำให้ความจำเป็นในการรับข้อมูลจาก อสม. น้อยลง ประกอบกับ อสม.ขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ขาดความมั่นใจในการปฏิบัติงาน มีทัศนคติไม่ดีต่อการทำงานและยังคงใช้เทคนิคการทำงานแบบเดิม ส่งผลให้การดำเนินงานของ อสม.ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เกิดปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานชุมชน โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ งานวิจัยนี้ ได้พัฒนารูปแบบ TAMILine model สำหรับการปรับตัวของ อสม. ประกอบด้วย 1) Team coaching คือ การทำงานเป็นทีม และใช้ระบบพี้เลี้ยง อสม.เก่า ดูแล อสม.ใหม่ 2) Area working คือการจัดเขตพื้นที่ทำงานของ อสม.ตามสภาพของกลุ่มประชากร 3) Meeting คือการประชุมทีม อสม. ทุกวันอาทิตย์แทนวันทำการ 4) Public information คือการจัดการฐานข้อมูลประชาชน เพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมการใช้สื่อสาธารณสุขกับผังความรับผิดชอบแต่ละครัวเรือน และ 5) Line connection คือการสื่อสารผ่านกลุ่มไลน์ (Line) เพื่อการสื่อสารที่เข้าใจตรงกันในเวลารวดเร็ว ซึ่งรูปแบบที่นำเสนอสามารถพัฒนาศักยภาพแก่ อสม. และทำให้ อสม. มีความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการปฏิบัติงานในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบท

Article Details

How to Cite
ธงชัย ค., & บุญจรัส ส. (2017). การปรับตัวของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบทบ้านท่าบ่อ ตำบลแจระแม จังหวัดอุบลราชธานี. Area Based Development Research Journal, 9(3), 206–220. Retrieved from https://so01.tci-thaijo.org/index.php/abcjournal/article/view/95274
Section
Research Articles