ผลของน้ำเชื้อของปลาตะกรับหน้าเขียว (Scatophagus argus) และปลาตะกรับหน้าแดง (S.argus var. rubrifrons) ต่อการผสมเทียม การอนุบาลและความทนทานต่อความเค็มของลูกปลา

Main Article Content

มนต์สรวง ยางทอง
อติชาต หนูพันธ์ขาว
จิระยุทธ รื่นศิริกุล

บทคัดย่อ

ศึกษาผลของน้ำเชื้อของปลาตะกรับหน้าเขียวและหน้าแดงต่อการผสมเทียม การอนุบาลและความทนทานต่อความเค็มของลูกปลาตะกรับพันธุ์แท้และลูกปลาข้ามสายพันธุ์ การทดลองประกอบด้วย 3 ตอน คือ 1) เปรียบเทียบการผสมเทียม โดยใช้แม่ปลาตะกรับหน้าเขียวและใช้น้ำเชื้อจากพ่อปลาตะกรับหน้าเขียวและหน้าแดง พบว่าอัตราการปฏิสนธิ (69.01±4.43 และ 70.58±6.77 %) อัตราการฟัก (72.41±5.21 และ 70.60±3.95%) ความยาวลูกปลาแรกฟัก (1.75±0.05 และ1.80±0.10 มิลลิเมตร) จำนวนลูกปลาแรกฟักต่อน้ำหนักแม่ปลา (481.77±229.78 และ 523.30 ± 236.79 ตัวต่อกรัม) อัตรารอดของลูกปลาอายุ 3 วัน (62.50±9.17 และ 62.50± 9.17%) ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) 2) เปรียบเทียบการอนุบาลระหว่างลูกปลาตะกรับหน้าเขียวพันธุ์แท้และลูกปลาข้ามสายพันธุ์ 2 ระยะคือ ช่วงอายุ 1-20 วัน และอายุ 21-45 วัน พบว่าน้ำหนัก ความลึกของลำตัว (body depth) ความยาวเหยียดและอัตราการรอดตาย ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) 3) เปรียบเทียบความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มแบบฉับพลัน ที่ 0,15,30 และ 45 ส่วนในพันส่วน (ppt) พบว่าความทนทานต่อความเค็มระดับต่างๆ ของลูกปลาทั้งสองสายพันธุ์ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P>0.05) ดังนั้นการผสมเทียม การอนุบาล และความทนทานต่อความเค็มของลูกปลาตะกรับทั้งสองสายพันธุ์ไม่แตกต่างกัน จึงเป็นการเพิ่มโอกาสการผลิตลูกปลาตะกรับข้ามสายพันธุ์เชิงปริมาณ

Article Details

บท
บทความวิจัย