สหสัมพันธ์และแพทโคเอฟฟิเชี่ยนท์ของลักษณะทางการเกษตรและปริมาณเซซามิน ในเมล็ดงาดำงาแดงและงาขาว

Main Article Content

อิทธิพล ขึมภูเขียว
ปริญดา แข็งขัน
เอกรินทร์ สารีพัว
อรวรรณ รักสงฆ์

บทคัดย่อ

ความสัมพันธ์ของลักษณะทางการเกษตรกับปริมาณเซซามินเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับวางแผนการปรับปรุงพันธุ์งาให้มีผลผลิตและปริมาณเซซามินในเมล็ดสูง การศึกษาครั้งนี้ดำเนินการในไร่ฝึกทดลอง สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในต้นฤดูฝน (พฤษภาคม – สิงหาคม พ.ศ. 2559) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสหสัมพันธ์ระหว่างลักษณะ อิทธิพลทางตรงและทางอ้อมของลักษณะทางการเกษตรกับปริมาณเซซามินในเมล็ดงา วางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design จำนวน 4 ซ้ำ ทำการบันทึกข้อมูลลักษณะทางการเกษตรและวิเคราะห์ปริมาณเซซามินในเมล็ดงาด้วย HPLC ผลการทดลองพบว่า อายุการเก็บเกี่ยว (r =0.733, P ≤ 0.01) ความสูงต้น (r =0.611, P ≤ 0.01) น้ำหนัก 1,000 เมล็ด (r =0.501, P ≤ 0.05) และความกว้างเมล็ด (r =0.441, P ≤0.05) มีสหสัมพันธ์ทางบวกกับผลผลิตต่อต้นของงาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อายุการเก็บเกี่ยวมีอิทธิพลทางตรงแบบบวกต่อผลผลิตต่อต้นของงามากที่สุด (0.840) รองลงมาคือ ความสูงต้น (0.376) และน้ำหนัก 1,000 เมล็ด (0.287) สำหรับสหสัมพันธ์ระหว่างลักษณะทางการเกษตรกับปริมาณเซซามิน พบว่าน้ำหนัก 1,000 เมล็ด (r =-0.715, P ≤ 0.01) ความยาวเมล็ด (r =-0.639, P ≤ 0.01) ความกว้างเมล็ด (r =-0.564, P ≤ 0.01) และผลผลิตต่อต้น (r =-0.468, P ≤ 0.05) มีสหสัมพันธ์ทางลบกับปริมาณเซซามินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ น้ำหนัก 1,000 เมล็ด มีอิทธิพลทางตรงแบบลบต่อปริมาณเซซามินมากที่สุด (-0.471) รองลงมาคือความยาวเมล็ด (-0.369) จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการคัดเลือกพันธุ์งาเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อต้นสามารถคัดเลือกทางอ้อมผ่านอายุการเก็บเกี่ยว ความสูงต้น และน้ำหนัก 1,000 เมล็ด และความสัมพันธ์ระหว่างขนาดเมล็ดกับปริมาณเซซามินอาจเป็นอุปสรรคในการปรับปรุงพันธุ์งาเพื่อเพิ่มทั้งขนาดเมล็ดและปริมาณเซซามิน

Article Details

บท
บทความวิจัย