การจัดการความรู้กับการพัฒนาภารกิจอุดมศึกษาในวิทยาลัยพยาบาล สังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข Knowledge Management Develop mission of Hiqher Education in Nursing Colleges Under Praboramarajchanok Institute the Ministry of Pubic Health

ผู้แต่ง

  • กัลยารัตน์ อานนท์รัตน์

บทคัดย่อ

บทนำ

     พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 34 กำหนดให้คณะกรรมการการจัดทำมาตรฐานการอุดมศึกษา มาตรฐานฉบับนี้ประกอบด้วยมาตรฐานย่อย 3 ด้าน ได้แก่มาตรฐานด้านคุณภาพบัณฑิต มาตรฐานด้านการบริหารจัดการการอุดมศึกษา และมาตรฐานด้านการสร้างและพัฒนาสังคมฐานความรู้และสังคมแห่งการเรียนรู้ มาตรฐานด้านการบริหารจัดการการอุดมศึกษา เป็นภารกิจที่ สถาบันอุดมศึกษามุ่งเน้นเพื่อส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง โดยผ่านบทบาทภารกิจหลัก 4 ด้าน คือ 1) ด้านการสอน 2) ด้านการวิจัย 3) การบริการวิชาการแก่สังคม และ4) ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม (วราภรณ์ บวรศิริ, มปพ.)

     วิทยาลัยพยาบาล ในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข เป็นสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา  สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบตามพันธกิจของอุดมศึกษาทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านวิชาการ ด้านการวิจัย ด้านการบริการวิชาการ และด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ยังเพิ่มเติมในบทบาทหน้าที่ด้านการพัฒนาบุคลากรด้วยตามที่สถาบันพระบรมราชชนกได้มอบหมาย ซึ่งวิทยาลัยพยาบาล ในสงกัดสถาบันพระบรมราชชนก มีหน้าที่หลักในการผลิตบุคลากรทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะพยาบาลศาสตรบัณฑิตตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 ถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการจัดการศึกษา และพัฒนาคุณภาพทางด้านการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาเพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปรับใช้สังคม และได้รับการตรวจสอบคุณภาพการศึกษาจนได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันพระบรมราชชนก  สภาการพยาบาล  และ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เมื่อพิจารณาจากคุณภาพการศึกษาที่ผ่านมาของวิทยาลัยพยาบาล พบว่า วิทยาลัยพยายามพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการเพื่อให้ภารกิจอุดมศึกษาได้รับการรับรองคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (2553) ได้ทำการพัฒนาเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษา โดยระบุไว้ในองค์ประกอบที่ 7 การบริหารและการจัดการ ตัวบ่งชี้ที่ 7.2  เรื่องการพัฒนาสถาบันสู่สถาบันเรียนรู้  โดยมีเกณฑ์มาตรฐาน ประกอบด้วย 1) มีการกำหนดประเด็นความรู้และเป้าหมายของการจัดการความรู้ที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของสถาบันอย่างน้อยครอบคลุมพันธกิจ ด้านการผลิตบัณฑิตและด้านการวิจัย 2) กำหนดบุคลากรกลุ่มเป้าหมายที่จะพัฒนาความรู้และทักษะด้านการผลิตบัณฑิตและด้านการวิจัยอย่างชัดเจนตามประเด็นความรู้ที่กำหนดในข้อ 1  3) มีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากความรู้ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง (Tacit Knowledge) เพื่อค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีตามประเด็นความรู้ที่กำหนดในข้อ 1 และเผยแพร่ไปสู่บุคลากรกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด 4) มีการรวบรวมความรู้ตามประเด็นความรู้ที่กำหนดในข้อ 1 ทั้งที่มีอยู่ในตัวบุคคลและแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีมาพัฒนาและจัดเก็บอย่างเป็นระบบโดยเผยแพร่ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร (Explicit Knowledge) 5) มีการนำความรู้ที่ได้จากการจัดการความรู้ในปีการศึกษาปัจจุบันหรือปีการศึกษาที่ผ่านมา ที่เป็นลายลักษณ์อักษร (Explicit Knowledge) และจากความรู้ ทักษะของผู้มีประสบการณ์ตรง (Tacit Knowledge) ที่เป็นแนวปฏิบัติที่ดีมาปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริง จะเห็นได้ว่าการประกันคุณภาพการศึกษาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสถาบันสู่สถาบันเรียนรู้ โดยใช้หลักการบริหารและการจัดการของการจัดการความรู้ ดังนั้นสถาบันอุดมศึกษาต่างๆจึงต้องพิจารณาหลักการบริหารจัดการที่จะสามารถดำเนินการให้บรรลุตามภารกิจอุดมศึกษาของแต่ละสถาบัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2013-07-01

ฉบับ

บท

บทความวิชาการ