การให้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลตามการรับรู้ของนักศึกษา วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ

ผู้แต่ง

  • ผ่องรัตน์ รัตนไทย และคณะ การพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (การพยาบาลผู้ใหญ่)

คำสำคัญ:

คุณค่าวิชาชีพพยาบาล, การรับรู้, นักศึกษาพยาบาล

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงสำรวจนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลตามการรับรู้ของนักศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 – 4 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2550 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ จำนวน 247 คน ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย เก็บข้อมูลโดยให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาล ซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยได้แนวคิดมาจากหนังสือจริยศาสตร์ทางการพยาบาล มีจำนวน 20 ข้อ ลักษณะคำถามเป็นมาตราส่วนประเมินค่า (rating scale) 4 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง และน้อย หาความตรงตามเนื้อหา (content validity) จากผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ค่าความเชื่อมั่น (Cronbach’s alpha coefficient) เท่ากับ .81 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบความแปรปรวนแบบทางเดียว (One Way Analysis of Variance; ANOVA หรือ F – test) และการทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่โดยวิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe)

ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้

1. คะแนนเฉลี่ยการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลโดยรวมของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 1, ปีที่ 2, ปีที่ 3, ปีที่ 4 อยู่ในระดับมาก (x̄ = 3.21, 3.45, 3.30, 3.46 ตามลำดับ SD = .29, .39, .32, .34 ตามลำดับ) เมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยการรับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลรายข้อ พบว่าข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด 4 ข้อแรก ได้แก่ วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ (x̄ = 3.82) วิชาชีพพยาบาลเป็นวิชาชีพที่มีความเสียสละ ความรับผิดชอบ และมีน้ำใจที่จะช่วยเหลือบุคคลมากกว่าอาชีพอื่น (x̄ = 3.70) การประเมินอาการและความรู้สึกของผู้ป่วยมีความสำคัญต่อการปฏิบัติการพยาบาล (x̄ = 3.56) และ การปฏิบัติการพยาบาลแบบองค์รวมต่อผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณมีความสำคัญต่อการประกอบวิชาชีพพยาบาล (x̄ = 3.56) และข้อที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุด 3 ข้อแรก ได้แก่ วิชาชีพพยาบาลปัจจุบันได้รับการยอมรับจากแพทย์ในการปฏิบัติงานร่วมกันและมีโอกาสเลือกแพทย์เป็นคู่ครองสูง (x̄ = 2.61) พยาบาลสามารถปฏิบัติการพยาบาลนอกเหนือคำสั่งของแพทย์ได้ตามความเหมาะสม (x̄ = 2.69) และ พยาบาลมีสิทธิในการตัดสินใจ และสามารถปฏิบัติการพยาบาลทางด้านจิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้ป่วยเป็นรายบุคคลด้วยตนเองได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องรอคำสั่งจากแพทย์ (x̄ = 2.94)
2. นักศึกษาพยาบาลชั้นปีต่างกันมีการรับรู้คุณค่าวิชาชีพแตกต่างกัน โดยนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 รับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลสูงกว่านักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .001 และนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 รับรู้คุณค่าวิชาชีพพยาบาลสูงกว่านักศึกษา พยาบาลศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป ควรมีการศึกษาคุณค่าพยาบาลวิชาชีพตามการรับรู้ของนักศึกษา พยาบาลตั้งแต่เริ่มเข้ามาเป็นนักศึกษาพยาบาลจนสำเร็จการศึกษา โดยการสนทนากลุ่ม หรือสัมภาษณ์ แบบเจาะลึกและบรรจุเป็นเนื้อหาหนึ่งในการเรียนการสอนวิชาการพยาบาล เพื่อเป็นข้อมูลในการเรียนรู้ ปลูกฝังและพัฒนาคุณค่าวิชาชีพพยาบาล สำหรับนักศึกษาพยาบาล

Downloads

ฉบับ

บท

บทความวิจัย