ผลของการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพแบบกลุ่ม (เพื่อนช่วยเพื่อน) ต่อความสามารถในการดูแลตนเอง ของนักศึกษาพยาบาลที่มีอาการกระเพาะอาหารอักเสบ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีกรุงเทพ

ผู้แต่ง

  • วงเดือน ศรีงาม และคณะ นักศึกษาพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลรมราชชนนี กรุงเทพ
  • สุมนา โสตถิผลอนันต์ อาจารย์ที่ปรึกษา

คำสำคัญ:

การให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพแบบกลุ่ม (เพื่อนช่วยเพื่อน), ความสามารถในการดูแลตนเอง, อาการกระเพาะอาหารอักเสบ

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง เพื่อศึกษาความสามารถในการดูแลตนเองของนักศึกษาที่มีอาการกระเพาะอาหารอักเสบ และเพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการดูแลตนเองของนักศึกษาที่มีอาการกระเพาะอาหารอักเสบก่อนและหลังได้รับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพแบบกลุ่ม ( เพื่อนช่วยเพื่อน ) กรอบแนวคิดในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยใช้ทฤษฏีการดูแลตนเองของโอเร็ม กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ ที่มีภาวะเจ็บป่วยและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ จำนวน 10 คน มีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง กลุ่มตัวอย่างได้รับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพแบบกลุ่ม ( เพื่อนช่วยเพื่อน ) ทั้งหมด 6 ครั้ง โดยใช้แผ่นพับความรู้เกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหารอักเสบ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และแบบทดสอบพฤติกรรมการดูแลตนเองของนักศึกษาพยาบาลที่มีอาการกระเพาะอาหารอักเสบ การวิเคราะห์ข้อมูลหาได้จากค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองโดยใช้สถิติ Willcoxon test ผลการวิจัย พบว่า ค่าเฉลี่ยของพฤติกรรมในการดูแลตนเองรายด้าน คือ ด้านการดูแลตนเองที่จำเป็นโดยทั่วไป เท่ากับ 52.30 ด้านการดูแลตนเองตามระยะพัฒนาการ เท่ากับ 18.70 และด้านการดูแลตนเองที่จำเป็นเมื่อเกิดภาวะสุขภาพเบี่ยงเบน เท่ากับ 44.80 และโดยรวมเท่ากับ115.80 และมีคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองหลังการให้คำปรึกษาเพิ่มขึ้นกว่าก่อนให้คำปรึกษาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Downloads

ฉบับ

บท

บทความวิจัย