รายงานวิจัยวิจัย ผลของการออกแบบการเรียนที่มีการใช้ประสบการณ์จริงในรายวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 2 ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความพึงพอใจของนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ

ผู้แต่ง

  • สุมนา โสตถิผลอนันต์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ (ด้านการสอน) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ
  • เพ็ญวรรณ เข้มขัน พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ (ด้านการสอน) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ
  • อุไร นิโรธนันท์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ (ด้านการสอน) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ

คำสำคัญ:

การเรียนที่มีการใช้ประสบการณ์จริง, การใช้ทักษะวิธีเรียน

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการออกแบบการเรียนที่มีการใช้ประสบการณ์จริงในรายวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 2 ต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอน และเปรียบเทียบความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนของนักศึกษาที่ได้รับการจัดรูปแบบการเรียนที่แตกต่างกัน ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เป็นนักศึกษาพยาบาลศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2552 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ จำนวน 152 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆละ 72 คน และ 80 คน วิธีดำเนินการวิจัย แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ปฐมนิเทศรายวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 2 และการจัดรูปแบบการเรียน 2 แบบ คือ รูปแบบการเรียนแบบขึ้นฝึกภาคปฏิบัติก่อนแล้วเรียนภาคทฤษฎี และรูปแบบการเรียนแบบเรียนภาคทฤษฎีก่อนแล้วขึ้นฝึกภาคปฏิบัติ การวิจัยครั้งนี้ ศึกษาเฉพาะส่วนของเนื้อหาบทเรียนการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ระยะที่ 2 การเรียนตามตารางเรียนที่มีการจัดรูปแบบการเรียน 2 แบบ ระยะที่ 3 ประเมินผลรายงานกรณีศึกษา การสอบภาคทฤษฎี และการตอบแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ข้อสอบวิชาการพยาบาลบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพ 2 จำนวน 2 ฉบับ ทดสอบด้วยสูตร KR 20 ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.49 และ 0.52 แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอน ทดสอบด้วยสูตร KR 21 ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .87 และแบบประเมินผลกรณีศึกษาแบบรูบริกส์ (Scoring rubric) ผลการศึกษา พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์ประเมิน มีจำนวน 89 คน (58.55%) ความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนอยู่ในระดับมาก มีจำนวน 82 คน (92.1%)จากผู้ตอบจำนวน 89 คน และนักศึกษาที่ได้รับการจัดรูปแบบการเรียนแตกต่างกัน มีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนการสอนแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

Downloads

ฉบับ

บท

บทความวิจัย