การศึกษาสมรรถนะเชิงเทคนิคในการพยาบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤต ของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลทั่วไป

ผู้แต่ง

  • สุกานดา สุจิตรธรรมคุณ นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • ดาริณี สุวภาพ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • มนสภรณ์ วิทูรเมธา อาจารย์ประจำ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

คำสำคัญ:

สมรรถนะเชิงเทคนิค, การพยาบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤต, พยาบาลวิชาชีพ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็น การวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) เพื่อกำหนดสมรรถนะเชิงเทคนิคในการพยาบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤตของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลทั่วไป โดยใช้เทคนิคเดลฟาย (Delphi technique) ทำการศึกษาและรวบรวมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับงานการดูแลผู้ป่วยภาวะวิกฤต จำนวน 17 คน โดยใช้แบบสอบถามกึ่งโครงสร้างที่สร้างจากกรอบแนวคิดสรรถนะเชิงเทคนิค ลักษณะงานการพยาบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤต และมาตรฐานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต

ผลการวิจัยครั้งนี้ พบว่า สมรรถนะเชิงเทคนิคในงานการพยาบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤต ประกอบด้วยสมรรถนะเชิงเทคนิค 4 กลุ่ม 28 รายด้าน 120 ข้อย่อย ผู้วิจัยวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่ามัธยฐาน และค่าพิสัยระหว่าง ควอไทล์แสดงความสอดคล้องของความคิดเห็นของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ ที่มีต่อกลุ่มสมรรถนะ ค่ามัธยฐาน (Median) ที่ใช้คือ มากกว่าหรือเท่ากับ 3.50 และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ที่น้อยกว่า 1.50 นำมากำหนดเป็นกลุ่มสมรรถนะ และรายการสมรรถนะเชิงเทคนิคทางการพยาบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤต ประกอบด้วยกลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มสมรรถนะการประเมินและเฝ้าระวังภาวะวิกฤต มีสมรรถนะรายด้าน 7 รายด้าน และสมรรถนะย่อย 30 รายการย่อย กลุ่มที่ 2 คือสมรรถนะด้านการพยาบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤตแบบองค์รวมมีสมรรถนะรายด้าน 11 รายด้าน และสมรรถนะย่อย 54 รายการย่อย กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มสมรรถนะด้านการช่วยชีวิตมีสมรรถนะรายด้าน 5 รายด้าน สมรรถนะย่อย 14 รายการย่อย และกลุ่มที่4 คือ กลุ่มสมรรถนะด้านการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยขณะแพทย์ทำหัตถการมีสมรรถนะรายด้าน 5 รายด้าน และสมรรถนะย่อย 22 รายการย่อย

ผลการวิจัยครั้งนี้ ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานการพยาบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤตทุกหน่วยงานในโรงพยาบาลทั่วไป และเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคคลากรที่ปฏิบัติงานการพยาบาลผู้ป่วยภาวะวิกฤต

Downloads

ฉบับ

บท

บทความวิจัย