ผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจในผู้ป่วยโรคหัวใจ และหลอดเลือด ณ รพ.รามาธิบดี

ผู้แต่ง

  • กนกกาญจน์ กอบกิจสุมงคล พยาบาลหน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรคหัวใจ งานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • เพิ่มสุข เอื้ออารี พยาบาลหน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรคหัวใจ งานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • อาภาสิณี วรอาคม แพทย์ประจำบ้าน ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • นพวรรณ แสนเจริญสุทธิกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลรามาธิบดี

คำสำคัญ:

การฟื้นฟูสมรรถนะหัวใจ, คุณภาพชีวิต, แบบสอบถามคุณภาพชีวิต

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive Research) มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจในด้านคุณภาพชีวิต ความสามารถในการทำกิจกรรม และความวิตกกังวลซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ ที่หน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูโรคหัวใจ รพ.รามาธิบดี ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึง พฤศจิกายน 2551

ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งหมด 1,010 คน เพศชาย 678 คน หญิง 332 คน อายุ 18 – 83 ปี เฉลี่ย 63 ปี ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ หลังการผ่าตัดหลอดเลือดหัวใจ (Post Coronary Artery Bypass Graft, Post-CABG) 626 คน การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Valvular Heart Surgery) 225 คน การผ่าตัดทั้ง 2 ชนิด (Post-CABG with Valvular Heart Surgery) 105 คน และไม่ได้รับการผ่าตัด 54 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามคุณภาพชีวิต (Short Form-36, SF-36), แบบสอบถามความสามารถในการทำกิจกรรม (Duke Activity Status Index, DASI), แบบสอบถามประเมินความวิตกกังวล และซึมเศร้า (Thai Hospital Anxiety and Depression Scale, Thai HADS)

ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจย้อนหลัง จากแฟ้มประวัติผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่หน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ ประกอบด้วยข้อมูลทั่วไป คือ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา รายได้ ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และการออกกำลังกาย และ แบบสอบถามในการวิจัย 5 ช่วงเวลา คือ ก่อนการผ่าตัด, หลังผ่าตัดที่ 1, 3, 6 และ 12 เดือน

ผลการวิจัย พบว่าผลประเมินทางคลินิกด้านอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า ผู้ป่วยมีความกังวลก่อนผ่าตัด 11.5% และ ซึมเศร้า 7% และลดลงภายหลังผ่าตัดตามเวลาที่ผ่านไป ผลประเมินทางคลินิกด้านคุณภาพชีวิต พบว่าค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิต SF-36 ด้านร่างกายก่อนการผ่าตัด 47.9 ± 19.90 (95% CI = 46.45, 49.46) และด้านจิตใจก่อนการผ่าตัด 63.96 ± 19.65 (95% CI = 62.47, 65.45) และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ภายหลังผ่าตัดตามเวลาที่ผ่านไป ผลประเมินความสามารถในการทำกิจกรรม DASI ก่อนการผ่าตัด 19.91 ± 9.3 และลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายหลังการผ่าตัดช่วง 3 เดือนแรก และกลับมาระดับก่อนการผ่าตัดที่ 6 เดือนหลังผ่าตัด

Downloads

ฉบับ

บท

บทความวิจัย