ความวิตกกังวล การสนับสนุนทางสังคม และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ในระยะหลังคลอดของผู้เป็นมารดาครั้งแรก

Authors

  • กัญญาณัฐ สิทธิภา
  • ฉวี เบาทรวง
  • นันทพร แสนศิริพันธ์

Keywords:

ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่หลังคลอด ความวิตกกังวล การสนับสนุนทางสังคม การเป็นมารดาครั้งแรก ระยะหลังคลอด

Abstract

     ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของมารดาในระยะหลังคลอด เป็นผลลัพธ์ทางสุขภาพ
ที่สำคัญสำหรับผู้เป็นมารดาครั้งแรก การวิจัยเชิงพรรณนาแบบหาความสัมพันธ์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความวิตกกังวล การสนับสนุนทางสังคม และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ในระยะหลังคลอดของผู้เป็นมารดาครั้งแรก กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้เป็นมารดาครั้งแรกที่อยู่ในระยะ 6-8 สัปดาห์หลังคลอด จำนวน 102 ราย ที่มารับบริการ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเชียงใหม่ ระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน พ.ศ. 2557 เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ของสปิลเบอร์เกอร์ (1983) ฉบับภาษาไทยโดย ธาตรี นนทศักดิ์ สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต และดาราวรรณ ต๊ะปินตา (2534) แบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคมของมารดาหลังคลอดของนลินี สิทธิบุญมา กรรณิการ์ กันธะรักษา และบังอร ศุภวิทิตพัฒนา (2557) ที่สร้างจากแนวคิดการสนับสนุนทางสังคมของเฮาส์ (House, 1981) และแบบสอบถามความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของมารดา ที่พัฒนาโดย ฉวี เบาทรวง นันทพร แสนศิริพันธ์ และสุจิตรา เทียนสวัสดิ์ (2557) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา และสถิติสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน

ผลการวิจัย พบว่า

มารดาหลังคลอดครั้งแรกส่วนใหญ่ (ร้อยละ 75.50) มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์อยู่ในระดับต่ำ และมีค่าเฉลี่ยของคะแนนความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ 36.89 (S.D. = 7.08)

  1. มารดาหลังคลอดครั้งแรกส่วนใหญ่ (ร้อยละ 20) ระบุว่า สามี คือผู้ที่ให้การสนับสนุนมากที่สุด มารดาส่วนใหญ่ (ร้อยละ 89.20) ได้รับการสนับสนุนทางสังคมอยู่ในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยของคะแนนการสนับสนุนทางสังคมโดยรวม 4.22 (S.D. = .57)
  2. มารดาหลังคลอดครั้งแรกส่วนใหญ่ (ร้อยละ 10) มีความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของมารดาอยู่ในระดับมาก และมีค่าเฉลี่ยของคะแนนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ของมารดา 3.31 (S.D. = .22)
  3. ความวิตกกังวลมีความสัมพันธ์ทางลบในระดับต่ำ กับความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ในระยะหลังคลอดของผู้เป็นมารดาครั้งแรก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.23, p < .05)
  4. การสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกระดับปานกลาง กับความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ในระยะหลังคลอดของผู้เป็นมารดาครั้งแรก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .56, p < .01)

     ผลการวิจัยครั้งนี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนให้การพยาบาลเพื่อส่งเสริมความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ในระยะหลังคลอดของผู้เป็นมารดาครั้งแรก

Downloads

Published

2018-03-13

How to Cite

สิทธิภา ก., เบาทรวง ฉ., & แสนศิริพันธ์ น. (2018). ความวิตกกังวล การสนับสนุนทางสังคม และความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ในระยะหลังคลอดของผู้เป็นมารดาครั้งแรก. Nursing Journal CMU, 44(3), 30–40. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/115311