ผลของโปรแกรมการฝึกการจัดการของตนเองต่อความรู้สึกในการทำหน้าที่ของร่างกาย การเกิดการกำเริบเฉียบพลันและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

Authors

  • ปราณี สายรัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ชดช้อย วัฒนะ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • นิตยา ตากวิริยะนันท์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Keywords:

การจัดการตนเอง, ความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย, อาการกำเริบเฉียบพลัน, คุณภาพชีวิต, ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

Abstract

          โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การส่งเสริมการจัดการตนเองมีส่วนสำคัญในการควบคุมโรคและป้องกันการเกิดอาการกำเริบเฉียบพลัน การวิจัยเชิงทดลองครั้งนี้เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการฝึกการจัดการตนเองต่อความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย การเกิดอาการกำเริบเฉียบพลันและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่มีความรุนแรงระดับ 3 แผนกผู้ป่วยนอกโรคทางเดินหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม 2556 สุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 31 ราย กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการฝึกการจัดการตนเองที่พัฒนาจากแนวคิดการจัดการตนเองของ เครียร์ (2000) ประกอบด้วยการให้ความรู้เป็นกลุ่มย่อยเกี่ยวกับหลักการการจัดการตนเองเพื่อควบคุมโรค ฝึกทักษะการจัดการตนเองโดยครอบคลุมเรื่อง การรับประทานอาหารและน้ำ การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการกำเริบเฉียบพลัน การพ่นยาอย่างถูกต้อง การบริหารการหายใจ การบริหารปอด การออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนและขา ให้คู่มือและติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลปกติ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ไคสแควร์ และสถิติทดสอบที

          ผลการศึกษาพบว่าหลังเข้าร่วมโปรแกรม 8 สัปดาห์ กลุ่มทดลองมีคะแนนความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกายสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ส่วนการเกิดอาการกำเริบเฉียบพลันน้อยไม่มีคะแนนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p> 0.05) และมีคุณภาพชีวิตสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)

          ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมการฝึกการจัดการตนเอง   สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการทำหน้าที่ของร่างกาย และเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพในการลดอาการกำเริบเฉียบพลัน การศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าควรมีการศึกษาซ้ำโดยขยายเวลาในการติดตามประเมินผลและเพิ่มกลวิธีการกระตุ้นติดตาม

Downloads

Published

2014-12-31

How to Cite

สายรัตน์ ป., วัฒนะ ช., & ตากวิริยะนันท์ น. (2014). ผลของโปรแกรมการฝึกการจัดการของตนเองต่อความรู้สึกในการทำหน้าที่ของร่างกาย การเกิดการกำเริบเฉียบพลันและคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง. Nursing Journal CMU, 41(4), 23–35. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/32649