ความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติของบุคลากรสุขภาพเกี่ยวกับการดูแล ในวาระสุดท้ายของชีวิตในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง

Authors

  • พัชรี เรือนศรี โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
  • ลินจง โปธิบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ภารดี นานาศิลป์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

การดูแลในวาระสุดท้าย, โรคเรื้อรัง, ผู้สูงอายุ, ความรู้, ทัศนคติ

Abstract

                   การดูแลในวาระสุดท้ายของชีวิต มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีความสุขสบายและได้รับการตอบสนองความต้องการอย่างเหมาะสมในวาระสุดท้ายของชีวิต  บุคลากรสุขภาพที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง และสามารถให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีคุณภาพ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติ  และการปฏิบัติของบุคลากรสุขภาพเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต และหาความสัมพันธ์ของตัวแปรดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างเป็นแพทย์ 48 รายและพยาบาล 263 ราย ที่ปฏิบัติงานในแผนกหอผู้ป่วยในของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ เดือนมีนาคม ถึง เมษายน 2556 สุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิและคำนวณตามสัดส่วน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ทดสอบความเชื่อมั่นของแบบสอบถามได้ค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์ เพียร์สันของแบบวัดความรู้ และแบบวัดทัศนคติเท่ากับ  0.90 และ 0.88 ตามลำดับ และค่าสัมประสิทธิ์ อัลฟาของครอนบาคของแบบวัดการปฏิบัติเท่ากับ0.86 รวบรวมข้อมูลภายหลังโครงการวิจัยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติแสดงความสัมพันธ์เชิงลำดับของสเปียร์แมน

                  ผลการวิจัยพบว่า

                 1.ทั้งแพทย์และพยาบาลมีความรู้  และทัศนคติเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต อยู่ในระดับปานกลาง และมีการปฏิบัติการดูแลโดยรวมอยู่ในระดับสูง

                 2. แพทย์มีความรู้และทัศนคติโดยรวมเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังที่อยู่ในวาระ

สุดท้ายของชีวิตสูงกว่าพยาบาล แต่มีการปฏิบัติการดูแลในวาระสุดท้ายต่ำกว่าพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05)

                 3. ความรู้ของบุคลากรสุขภาพมีความสัมพันธ์ในระดับเล็กน้อยกับทัศนคติเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต (r=0.121, p<0.05) แต่ความรู้ และทัศนคติไม่มีความ สัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการปฏิบัติการดูแลผู้ป่วย

                ผลการวิจัยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริหารโรงพยาบาลในการวางแผนการฝึกอบรมสำหรับบุคลากรสุขภาพให้มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรังที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตได้อย่างมีคุณภาพต่อไป

Downloads

Published

2015-06-30

How to Cite

เรือนศรี พ., โปธิบาล ล., & นานาศิลป์ ภ. (2015). ความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติของบุคลากรสุขภาพเกี่ยวกับการดูแล ในวาระสุดท้ายของชีวิตในผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง. Nursing Journal CMU, 42(2), 24–35. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/39417