ปัจจัยทำนายการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุภายหลังการผ่าตัด

Authors

  • พรรณี ไชยวงค์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
  • กนกพร สุคำวัง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • โรจนี จินตนาวัฒน์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ณหทัย วงศ์ปการันย์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

Keywords:

ภาวะสับสนเฉียบพลัน, ภาวะสับสนเฉียบพลันภายหลังการผ่าตัด, ผู้สูงอายุ

Abstract

                 ภาวะสับสนเฉียบพลันเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด  มีผลกระทบต่อด้านร่างกายจิตใจ  สังคมและเศรษฐกิจ  ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุภายหลังการผ่าตัดจะทำให้เกิดประโยชน์ในด้านการป้องกันและการเฝ้าระวัง  การเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุภายหลังการผ่าตัด  การวิจัยแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนายนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุภายหลังการผ่าตัดได้แก่  ภาวะความดันโลหิตต่ำระดับฮีโมโกลบิน ระดับความเจ็บปวดและคุณภาพการนอนหลับ  ขนาดกลุ่มตัวอย่างคำนวณจากสูตรการคำนวณของทาบาคนิกและฟิเดลที่ระดับความเชื่อมั่น ร้อยละ 95 และคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม 2556 ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 94 ราย  ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิง ที่เข้ารับการผ่าตัดใหญ่ทุกชนิดที่ไม่ใช่การผ่าตัดทางด้านศัลยกรรมประสาทและศัลยกรรมหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ในแผนกศัลยกรรมและแผนกออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย      ได้แก่  แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินภาวะสับสนเฉียบพลันฉบับสั้นภาษาไทย (Thai version of Confusion  Assessment  Method: CAM-algorithm)  แบบสัมภาษณ์คุณภาพการนอนหลับของเวอร์แรน และสไนเดอร์-ฮาล เพิร์น  ฉบับภาษาไทย (Verran  and Snyder-Halpern  Sleep   Scale: VSH  Sleep  Scale)วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา  และการวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกแบบ  2 กลุ่ม

                 ผลการวิจัยพบว่า

                1. กลุ่มตัวอย่างเกิดภาวะสับสนเฉียบพลัน ร้อยละ 20.21  พบการเกิดได้ในวันที่ 1-4 หลังการผ่าตัดโดยเกิดในวันแรกหลังการผ่าตัดคิดเป็น  ร้อยละ 52.63 วันที่ 2 หลังการผ่าตัดคิดเป็น ร้อยละ 26.31  วันที่ 3 และ 4 หลังการผ่าตัดคิดเป็น ร้อยละ 10.52 เท่ากัน

                 2.ระดับความเจ็บปวดภายหลังการผ่าตัด  เป็นปัจจัยเพียงตัวเดียวที่สามารถทำนายการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุภายหลังการผ่าตัดได้ดี  โดยมีค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยเท่ากับ 1.34   (95% CI  =1.07 – 1.69)  และสามารถทำนายการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุภายหลังการผ่าตัดได้  ร้อยละ 25 (Nagelkerke R square = .25, p<.05)

                ผลการวิจัยครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรด้านสุขภาพเกี่ยวกับข้อมูลของภาวะสับสนเฉียบพลัน ภายหลังการผ่าตัดในผู้สูงอายุและเป็นแนวทางในการพัฒนารูปแบบการดูแลป้องกันการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันภายหลังการผ่าตัดในผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ

Downloads

Published

2015-06-30

How to Cite

ไชยวงค์ พ., สุคำวัง ก., จินตนาวัฒน์ โ., & วงศ์ปการันย์ ณ. (2015). ปัจจัยทำนายการเกิดภาวะสับสนเฉียบพลันในผู้สูงอายุภายหลังการผ่าตัด. Nursing Journal CMU, 42(2), 116–125. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/39433