การพัฒนาโปรแกรมป้องกันโรคความดันโลหิตสูงในประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

Authors

  • อัมพร วงค์ติ๊บ
  • นงเยาว์ อุดมวงศ์
  • รังสิยา นารินทร์

Keywords:

การพัฒนาโปรแกรม, ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง, ประชาชนกลุ่มเสี่ยง, การมีส่วนร่วมของชุมชน

Abstract

          กลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงสามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้  หากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการออกกำลังกายและการบริโภคอาหาร การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลของโปรแกรมป้องกันโรคความดันโลหิตสูงในประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจงประกอบด้วย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มพัฒนาโปรแกรม จำนวน 18 คน และกลุ่มผู้เข้าร่วมโปรแกรม ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 23 คน ดำเนินการวิจัย ระหว่าง เดือนตุลาคม 2556 - มกราคม 2557 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่  1) แบบสอบถามวัดความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงและการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง 2) แบบสอบถามพฤติกรรมการออกกำลังกาย 3)แบบสอบถามพฤติกรรมการบริโภคอาหาร 4) แบบบันทึกระดับความดันโลหิต  5) แบบบันทึกดัชนีมวลกาย ส่วนที่ 2 เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงในประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและ  แบบสัมภาษณ์เพื่อประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติเชิงพรรณนา โปรแกรมการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงในประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน พัฒนาขึ้นตามแนวคิดพรีซีด-โพรซีดโมเดล ซี่งแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การประเมินและวิเคราะห์ปัญหา   ระยะที่ 2 การปฏิบัติและการประเมินผล

          โปรแกรมประกอบด้วย 6 กิจกรรม คือ 1) การอบรมเรื่องโรคความดันโลหิตสูง การบริโภคอาหารและการออกกำลังกายสำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง 2) การให้ความรู้ผ่านหอกระจายข่าว 3) การจัดกิจกรรมการออกกำลังกาย 4) การประชาสัมพันธ์เชิญชวนออกกำลังกายผ่านหอกระจายข่าว 5) การติดตามเยี่ยม 6) การประกวดอาหารพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ ผลการศึกษาพบว่า

          1. ระดับความรู้เกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง  และการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงในระดับสูงเพิ่มขึ้น จากเดิมร้อยละ 78.26 เป็นร้อยละ 95.65

          2. ระดับพฤติกรรมการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ด้านการออกกำลังกาย ระดับประจำเพิ่มขึ้น จากเดิมร้อยละ 4.35 เป็นร้อยละ 26.09

          3. ระดับพฤติกรรมการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงด้านการบริโภคอาหารที่ถูกต้องระดับประจำเพิ่มขึ้น จากเดิมร้อยละ 8.70 เป็นร้อยละ 52.17

          4. ระดับความดันโลหิตซิสโตลิค และไดแอสโตลิค ระดับเสี่ยง เปลี่ยนเป็นระดับความดันโลหิตปกติร้อยละ 26.09 และคงเหลืออยู่ในระดับเสี่ยง ร้อยละ 73.91

          5. ระดับดัชนีมวลกายระดับก่อนอ้วน จากเดิมร้อยละ 39.13 ลดเหลือ ร้อยละ 34.78 ส่วนอ้วนระดับ 1 และ 2 ไม่เปลี่ยนแปลง

          ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมป้องกันโรคความดันโลหิตสูงในประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงความดันโลหิตสูง มีการควบคุมระดับความดันโลหิตและดัชนีมวลกายได้ระดับหนึ่ง ดังนั้นควรมีการนำโปรแกรมป้องกันโรคความดันโลหิตสูงนี้ไปประยุกต์ใช้กับชุมชนอื่นเพื่อป้องกันกลุ่มเสี่ยงพัฒนาไปเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงต่อไป

Downloads

Published

2015-12-01

How to Cite

วงค์ติ๊บ อ., อุดมวงศ์ น., & นารินทร์ ร. (2015). การพัฒนาโปรแกรมป้องกันโรคความดันโลหิตสูงในประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน. Nursing Journal CMU, 42(4), 12–24. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/53251