ประสิทธิผลของโปรแกรมการให้ความรู้และการฝึกผ่อนคลายต่อพฤติกรรมการดูแลตนเอง ระดับนำตาลในเลือด และความเครียดของสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

Authors

  • อัญชลี จิตราภิรมณ์
  • จันทรรัตน์ เจริญสันติ

Keywords:

การผ่อนคลาย, พฤติกรรมการดูแลตนเอง, สตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์

Abstract

          เบาหวานในขณะตั้งครรภ์อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งในสตรีตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์ และทารกแรกเกิดการมีความรู้เรื่องโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และการผ่อนคลายจะช่วยให้สตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีพฤติกรรมการดูแลตนเอง การลดระดับน้ำตาลในเลือด และความเครียดซึ่งจะทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนในสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้  การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบคะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเอง ระดับน้ำตาลในเลือดและคะแนนความเครียดของสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมการให้ความรู้และการฝึกผ่อนคลาย โดยวัดสัปดาห์ที่ 5 สำหรับพฤติกรรมการดูแลตนเองและความเครียด และสัปดาห์ที่ 7 สำหรับระดับน้ำตาลในเลือดกลุ่มตัวอย่างคือสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ระดับเอหนึ่ง ที่มารับบริการฝากครรภ์ในแผนกฝากครรภ์ โรงพยาบาลชุมพรเขตอุดมศักดิ์ การเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นการเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนดจำนวน 40 ราย แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 20 ราย กลุ่มควบคุม 20 ราย เก็บข้อมูลจากกลุ่มควบคุมก่อนกลุ่มทดลอง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยเครื่องมือดำเนินการวิจัยได้แก่ โปรแกรมการให้ความรู้และฝึกผ่อนคลาย คู่มือการให้ความรู้โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นและวีดิทัศน์การฝึกผ่อนคลายความเครียดของกรมสุขภาพจิต และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดความเครียดสวนปรุงชุด 60 ข้อส่วนที่ 3 แบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลตนเองของสตรีที่เป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ แบบบันทึกระดับน้ำตาลในเลือด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาสถิติทดสอบค่าที

         ผลการวิจัย พบว่า

         1. คะแนนพฤติกรรมการดูแลตนเองของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p>.05)

         2.ระดับน้ำตาลในเลือดของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p> .05)

         3.คะแนนความเครียดของกลุ่มทดลองหลังได้รับโปรแกรมต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ(p < .01)

         4.คะแนนความเครียดของกลุ่มทดลองภายหลังได้รับโปรแกรมต่ำกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01)

         ผลของการศึกษาครั้งนี้เสนอให้นำโปรแกรมมาใช้เพื่อลดความเครียดของสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และควรทำการศึกษากลยุทธ์สำหรับการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลตนเองและระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อช่วยในการลดภาวะแทรกซ้อนต่อทั้งสตรีตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์และทารกแรกเกิด

Downloads

Published

2015-12-31

How to Cite

จิตราภิรมณ์ อ., & เจริญสันติ จ. (2015). ประสิทธิผลของโปรแกรมการให้ความรู้และการฝึกผ่อนคลายต่อพฤติกรรมการดูแลตนเอง ระดับนำตาลในเลือด และความเครียดของสตรีที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์. Nursing Journal CMU, 42(4), 133–145. Retrieved from https://he02.tci-thaijo.org/index.php/cmunursing/article/view/53298