ยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมช่างเครื่องบิน ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ผู้แต่ง

  • บุญมี เปี่ยมพริ้ง

คำสำคัญ:

ยุทธศาสตร์, การพัฒนา, การฝึกอบรม, ช่างเครื่องบิน, การบินไทย,

บทคัดย่อ

การเดินทางด้วยเครื่องบินได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถเดินทางไกลได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และสะดวกสบาย เครื่องบินที่ใช้ให้บริการแก่นักเดินทางได้รับการบริการและบำรุงรักษาตามมาตรฐานโดยช่างเครื่องบินระดับปฏิบัติการ การบินไทยฝึกอบรมช่างเครื่องบินให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน แต่จากข้อมูลที่เกี่ยวข้องพบว่ามีความจำเป็นที่การฝึกอบรมต้องได้รับการพัฒนา และจากข้อมูลในระดับสากลแสดงให้เห็นว่า การบริการและการบำรุงรักษาเครื่องบินที่ด้อยคุณภาพอาจนำมาซึ่งอุบัติภัยร้ายแรงทางอากาศ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการฝึกอบรมช่างเครื่องบินระดับปฏิบัติการของการบินไทย เพื่อระบุประเด็นวิกฤติ พร้อมทั้งสร้าง ตรวจสอบ รับรอง และนำเสนอยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการฝึกอบรม แหล่งข้อมูลประกอบด้วยช่างเครื่องบิน ผู้บริหาร และวิทยากร คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มอย่างง่าย เก็บข้อมูลจากช่างเครื่องบินด้วยแบบสอบถาม เก็บข้อมูลจากผู้บริหารและวิทยากรด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบ 3 ประเด็นวิกฤติจากการศึกษาสภาพการฝึกอบรม ผลการสร้างยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมช่างเครื่องบินได้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1) ยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมภาคสนาม 2) ยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการฝึกอบรมภาคทฤษฎี และ 3) ยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมของการฝึกอบรม แต่ละยุทธศาสตร์มีวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดที่ชัดเจน ผลการตรวจสอบรับรองยุทธศาสตร์ ได้รับการยอมรับและรับรองพร้อมด้วยข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอันเป็นประโยชน์ ผลการนำเสนอยุทธศาสตร์หน่วยงานฝึกอบรมรับยุทธศาสตร์ไปปฏิบัติต่อไป

Downloads