การพัฒนารูปแบบกิจกรรมทางกายเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับรู้ การเคลื่อนไหวและสมรรถภาพทางกลไกสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น

ผู้แต่ง

  • คณิน ประยูรเกียรติ
  • รุ่งระวี สมะวรรธนะ

คำสำคัญ:

กิจกรรมทางกาย, ความสามารถในการรับรู้การเคลื่อนไหว, สมรรถภาพทางกลไก

บทคัดย่อ

            การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบกิจกรรมทางกายเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับรู้การเคลื่อนไหวและสมรรถภาพทางกลไกของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น และ 2) ศึกษาผลของรูปแบบกิจกรรมทางกายที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 15 คนได้รับการปฏิบัติกิจกรรมทางกายตามรูปแบบของผู้วิจัย และกลุ่มควบคุมที่ได้รับการปฏิบัติกิจกรรมทางกายแบบอิสระ 15 คนโดยการสุ่มอย่างง่ายด้วยวิธีการจับฉลาก เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย 1) แผนการปฏิบัติ รูปแบบกิจกรรมทางกายเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับรู้การเคลื่อนไหวและสมรรถภาพทางกลไกของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น และ 2) แบบทดสอบความสามารถในการรับรู้การเคลื่อนไหวและสมรรถภาพทางกลไก นำข้อมูลที่ได้มาหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและวิเคราะห์ความแตกต่างด้วยสถิติแบบนอนพาราเมตริก

          ผลการวิจัยพบว่า 1) รูปแบบกิจกรรมทางกายเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการรับรู้การเคลื่อนไหวและสมรรถภาพทางกลไกสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.1) หลักการและแนวคิด 1.2) วัตถุประสงค์ 1.3) ขั้นตอน การดำเนินการจัดกิจกรรม และ 1.4) ผลลัพธ์การเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ได้แก่ 1.4.1) เกมการเคลื่อนไหวแบบยืดเหยียด 1.4.2) เกมชิงเป้าหมาย 1.4.3) เกมควบคุมลูกบอล 1.4.4) เกมกระโดดตามสั่ง และ 1.4.5) การเคลื่อนไหวแบบอยู่กับที่ โดยมีค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 0.95 2) ทดสอบผลของรูปแบบกิจกรรมทางกายที่พัฒนาขึ้น โดยภายหลังการทดลองพบว่า 2.1) กลุ่มทดลองมีคะแนนการทดสอบสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2.2) กลุ่มทดลองมีคะแนนการทดสอบสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Downloads