การสร้างแบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒

Main Article Content

ชญานิษฐ์ โสตถิโยธิน

Abstract

บทคัดย่อ

       วิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ๑) เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพของแบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ๒) เพื่อสร้างเกณฑ์สำหรับแปลความหมายคะแนนจากแบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่สร้างขึ้น และ ๓) เพื่อจัดทำคู่มือการใช้แบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และตรวจสอบคุณภาพของคู่มือกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ในภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ของโรงเรียนที่สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒ จำนวน ๗๖๖ คน ได้มาจากการสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอนแบบวัดที่สร้างขึ้นประกอบด้วยข้อคำถาม ๑๑๔ ข้อ ที่มุ่งวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองใน ๒ องค์ประกอบ ได้แก่ องค์ประกอบที่ ๑ การรับรู้ความสามารถของตนเองด้านวิทยาศาสตร์ และองค์ประกอบที่ ๒ การรับรู้ความสามารถของตนเองด้านคณิตศาสตร์ แบบวัดมีรูปแบบการตอบของลัสท์ คือ รูปแบบการตอบเป็นประเมินมิติความยาก (ทำได้ หรือ ทำไม่ได้) และประเมินมิติความเข้ม จากมาตราส่วนประมาณค่า ๑๐ ระดับคือ จาก ๑ (มั่นใจน้อยที่สุด) ถึง ๑๐ (มั่นใจมากที่สุด)การวิเคราะห์ข้อมูลตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา (Content Validity) โดยให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบ และตรวจสอบคุณภาพของข้อคำถามรายข้อในประเด็นค่าอำนาจจำแนก โดยคำนวณหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการตรวจสอบความเที่ยงแบบสอดคล้องภายในโดยวิธีของ Cronbach

 

         ผลการวิจัยพบว่า

       ๑. ความตรงตามเนื้อหาของแบบการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์จากการคำนวณค่าดัชนีความสอดคล้องของข้อคำถามกับนิยามตามแนวคิดของ Bandura ข้อคำถามในแบบวัดมีค่า IOC ตั้งแต่ ๐.๖๗ - ๑.๐๐

       ๒. ค่าอำนาจจำแนกของข้อคำถามมีค่าตั้งแต่ ๐.๓๓-๐.๕๔

       ๓. ความเที่ยงของแบบวัดจากการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของ Cronbach แบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านวิทยาศาสตร์ และแบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านคณิตศาสตร์มีค่าความเที่ยงเท่ากับ ๐.๙๒ และ ๐.๙๔ ตามลำดับ

       ๔. ความตรงตามสภาพ มีค่าสถิติ t-test ของแบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านวิทยาศาสตร์ และแบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านคณิตศาสตร์เท่ากับ ๓๑.๕๒ และ ๓๕.๔๙ ตามลำดับแสดงว่ากลุ่มเก่งมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มอ่อนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕

       ๕. เกณฑ์ปกติสำหรับแปลความหมายคะแนนของแบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ สังกัดเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒ ดังนี้ การรับรู้ความสามารถของตนเองด้านวิทยาศาสตร์  มีคะแนนมาตรฐานทีปกติตั้งแต่ T25 - T90 และการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านคณิตศาสตร์มีคะแนนมาตรฐานทีปกติตั้งแต่ T24 - T88 และ

       ๖. คู่มือการใช้แบบวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองด้านวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์มีความเหมาะสม อ่านเข้าใจง่ายและมีส่วนประกอบสำคัญครบถ้วน

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research Article)