การศึกษาวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ

Main Article Content

พระวิสัชนา วรปญฺโญ (พงษ์อาดิต)

Abstract

บทคัดย่อ

         การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องอิทัปปัจจยตาในพุทธปรัชญาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องกฎของธรรมชาติในพุทธปรัชญาเถรวาท ๓) เพื่อวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ โดยอาศัยการศึกษาและวิเคราะห์ทางเอกสาร (Documentary Research) ขั้นปฐมภูมิและขั้นทุติยภูมิเป็นหลัก

            ผลการวิจัยพบว่า

         ๑. แนวคิดเรื่องอิทัปปัจจยตาในพุทธปรัชญาเถรวาท ค้นพบว่า อิทัปปัจจยตาเป็นกฎที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ดำรงอยู่อย่างธรรมดาในลักษณะที่มีความเป็นเช่นนั่นเอง      (ตถตา) โดยมีสภาวะแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งล้วนแล้วดำรงอยู่อย่างที่มันเป็นเช่นนั่นเอง โดยไม่ผิดไปจากความเป็นเช่นนั้น มีสภาวะที่ไม่คลาดเคลื่อนเป็นไปอย่างอื่นได้ ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยอย่างมีระบบ ระเบียบ แบบแผน มีกฎเกณฑ์ และทิศทางที่แน่นอนตายตัว โดยมีหลักสำคัญคือ “สรรพสิ่งล้วนแต่เป็นเหตุปัจจัยอิงอาศัยกันและกันในฐานะที่สิ่งหนึ่งเป็นสาเหตุและอีกสิ่งหนึ่งเป็นผล” ดังประโยคที่เป็นหัวใจสำคัญทางพุทธปรัชญาว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับตามไปด้วย”โดยมีหลักสำคัญเป็นประเภทใหญ่ๆ ๓ ประการ คือ ๑) อิทัปปัจจยตาในฐานะเป็นสิ่งที่เป็นต้นเหตุ ๒) อิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นกระบวนการที่มีความสัมพันธ์กันระหว่างความเป็นต้นเหตุและความเป็นผล และ ๓) อิทัปปัจจยตาในฐานะเป็นสิ่งที่เป็นผล

         ๒. แนวคิดเรื่องกฎของธรรมชาติในพุทธปรัชญาเถรวาท ค้นพบว่า กฎธรรมชาติเป็นหลักธรรมใหญ่ๆที่มีอยู่ในรูปแบบกฎของหลักไตรลักษณ์ และหลักปฏิจจสมุปบาท ทั้ง ๒ หลักนี้ถือได้ว่า เป็นกฎตัวเดียวกัน เพราะต่างก็ทำหน้าที่แสวงหาและเปิดเผยความจริงอย่างเดียวกัน ซึ่งก็คือ “สัจธรรม” นั่นเอง เพียงแต่ต่างฝ่ายต่างแสดงอย่างละแนวทางเท่านั้นเอง โดยกฎไตรลักษณ์มีหน้าที่มุ่งแสดงลักษณะของสรรพสิ่งทั้งหลายว่ามีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไปตามกาลเทศะนั้นๆ ในส่วนของหลักอิทัปปัจจยตาหรือปฏิจจสมุปบาทเองก็ทำหน้าที่แสดงให้เห็นถึงอาการของสิ่งทั้งหลายว่ามีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันและกันจนกลายเป็นกระแสและมีกระบวนการดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ปรุงแต่งตามเหตุปัจจัยไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นวัตถุ-จิตใจ รูปธรรม-นามธรรมก็ตาม ดังนั้น กฎของธรรมชาติในพุทธปรัชญาเถรวาท จึงไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับลงไปเพราะด้วยอำนาจของพระเจ้า พระผู้สร้าง-ผู้ทำลาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำนานเรื่องเล่าผีปีศาจ ผีสาง นางไม้ มาดลบัลดาลให้เป็นไปตามคำขอร้องอ้อนวอนจากมนุษย์อันเป็นผู้เบาปัญญา ดังนั้น ปรากฏการณ์ของสรรพสิ่งทั้งหลายจึงเป็นเพียงสภาวะกิริยาปรุงแต่งหรือเป็นอาการที่เปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยของสิ่งนั้นๆ เป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งที่เน้นให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลเท่านั้นเอง โดยไม่ได้เกิดขึ้นจากสิ่งที่เหนือกฎธรรมชาติใดๆ ทั้งสิ้น

         ๓. แนวคิดเรื่องอิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ ค้นพบว่า สรรพสิ่งจึงมีกระบวนการดำเนินไปตามเหตุปัจจัยภายใต้อำนาจของ หลักอิทัปปัจจยตาในฐานะที่เป็นกฎแห่งธรรมชาติ โดยแบ่งออกเป็น ๒ นัยยะ คือ ๑) เป็นกฎสากลทั่วไป สามารถนำเอาไปประยุกต์ใช้เห็นถึงสภาวะแห่งความจริงทั้งปวง เช่น ชีวิต โลก จักรวาล เป็นต้น และ ๒) เป็นกฎจำเพาะเจาะจงในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น เมื่อนำเอากฏอิทัปปัจจยตาไปอธิบายถึงกระบวนการต่างๆก็จะทำให้เห็นความจริงได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น เช่น ความเปลี่ยนแปลงของ ร่างกาย จิตใจ เหตุแห่งความทุกข์และหนทางแห่งการดับทุกข์ ปล่อยวางจากความยึดติดถือมั่นด้วยประการทั้งปวง เป็นต้น

         ดังนั้น ตามทรรศนะของพุทธปรัชญา จึงถือว่าสรรพสิ่งทั้งหลายมีสอดคล้องกัน ไม่ว่าสิ่งดังกล่าวนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม กฎอิทัปปัจยตา จึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างเหตุและผลที่มีอยู่ในกฎของธรรมชาติ กฎของจักรวาล และถือว่าเป็นกฎใหญ่ที่มีความสำคัญต่อสรรพสิ่งทั้งปวง

Article Details

Section
บทความวิจัย (Research Article)