การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานสำหรับ นักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มศรีอยุธยา

ผู้แต่ง

  • กำธร ขวัญเสน่ห์ สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • อุษา คงทอง คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
  • อังคณา กรัณยาธิกุล คณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

คำสำคัญ:

รูปแบบการจัดการเรียนรู้, คอมพิวเตอร์พื้นฐาน, มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มศรีอยุธยา

บทคัดย่อ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มศรีอยุธยา 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มศรีอยุธยา วิธีดำเนินการวิจัยมี 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ศึกษาปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน สำหรับนักศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มศรีอยุธยา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักศึกษาปริญญาตรีที่ลงทะเบียนเรียนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 441 คน ได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multistage sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย มี 3 ส่วนได้แก่ 1) แบบสอบถามปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.81 2) แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.813) แบบประเมินทักษะวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.88 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การหาค่าความเชื่อมั่น ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติวิเคราะห์อิทธิพลเชิงสาเหตุโดยใช้โปรแกรมลิสเรลระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่ม ศรีอยุธยา ตรวจสอบและประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน

ผลการวิจัยพบว่า 1) องค์ประกอบด้านกระบวนการการเรียนการสอนส่งผลโดยตรงต่อด้านผู้สอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และส่งผลโดยรวมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ0.05 ขณะที่องค์ประกอบด้านผู้สอนส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานและด้านผู้เรียนอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติและองค์ประกอบด้านผู้เรียนส่งผลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติข้อค้นพบจากการวิเคราะห์อิทธิพลเชิงสาเหตุสามารถสรุปได้ว่าองค์ประกอบด้านกระบวนการการเรียนการสอนส่งผลโดยรวมต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐานและส่งผลโดยตรงต่อองค์ประกอบด้านผู้สอนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 2) รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน สำหรับนักศึกษาปริญญาตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มศรีอยุธยาประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเริ่มต้น (Initiation) ขั้นตอนที่ 2ขั้นเรียนรู้จากความคิด (Icon) ขั้นตอนที่ 3 ขั้นสร้างสรรค์ชิ้นงาน (Implementation) และขั้นตอนที่ 4 ขั้นสรุปบทเรียน (Closure) 4) การวัดและประเมินผลของรูปแบบ

 

Downloads