กลุ่มชาติพันธุ์จากพม่า และการสร้าง “ความเป็นพม่า” ผ่านจิตรกรรมฝาผนังในล้านนา

Main Article Content

ธัญญารัตน์ อภิวงค์

Abstract

        ดินแดนล้านนาหรือภาคเหนือของไทยมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และการผสมผสานของพหุวัฒนธรรมที่แตกต่างจากพื้นที่แห่งอื่นในประเทศไทย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานชี้ให้เห็นว่าภาคเหนือเป็นพื้นที่ซึ่งมีร่องรอยที่แสดงถึงการยอมรับวัฒนธรรมทางวัตถุแบบพม่า เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางวัตถุในสังคมท้องถิ่น  เนื่องด้วยเหตุผลที่สำคัญ คือ การที่ล้านนาเคยถูกปกครองโดยพม่าถึงสองร้อยกว่าปี ( ค.ศ.1558-1774)  แม้จะไม่มีร่องรอยของสิ่งก่อสร้างแบบพม่าจากยุคนี้หลงเหลือให้เห็นมากนักในปัจจุบัน แต่ก็ถือได้ว่าเป็นรากฐานที่ทำให้ผู้คนในภาคเหนือคุ้นเคยกับการมีอยู่ของวัฒนธรรมพม่าภายในท้องถิ่น  และอีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญคือ การที่พระเจ้ากาวิละ(เจ้าเมืองเชียงใหม่ ค.ศ.1782-1813) กวาดต้อนผู้คนจากดินแดนใกล้เคียง (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า) เข้ามาเป็นพลเมืองของล้านนา ทำให้ล้านนามีประชากรที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ต่อเนื่องด้วยการหลั่งไหลเข้ามาของชาวพม่าที่เข้ามากับบริษัทค้าไม้ของอังกฤษในยุคอาณานิคม จนกลายมาเป็นกลุ่มนายทุนและพ่อค้าที่สำคัญต่อเศรษฐกิจล้านนาในปลายศริสต์ศตวรรษที่19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20  เกิดเป็นชุมชนชาวพม่าผู้สร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบพม่าให้เป็นที่รับรู้ในสังคมไทย กลุ่มชาติพันธุ์จากพม่าที่อพยพเข้ามาในล้านนาอย่างต่อเนื่องจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดวัฒนธรรมทางวัตถุแบบพม่าสู่สังคมท้องถิ่น ทำให้ภาพอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพม่าครอบคลุมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่พม่า และกลายเป็นตัวแทนของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบพม่าให้คนไทยได้รับรู้

         จิตรกรรมฝาผนัง เป็นหนึ่งในวัฒธรรมทางวัตถุที่แสดงให้เห็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในสังคม  การวาดจิตกรรมฝาผนังภายในวัดซึ่งถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่เพียงแต่เป็นการส่งผ่านแนวคิด คำสอนและเรื่องเล่าทางพุทธศาสนา ยังสะท้อนความคิดและอุดมการณ์ของคนในชุมชนท้องถิ่นที่ได้ไตร่ตรองผ่านการจัดวางองค์ประกอบของภาพในการเล่าเรื่อง(กรีน 2558, 34) ภาพที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังภายในวัดมักแสดงให้เห็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของชุมชนท้องถิ่น โดยพิจารณาได้จากเครื่องแต่งกาย ทรงผม และหนวดเคราบนใบหน้า(Wyatt 2004, 68) หากสังเกตจากเครื่องแต่งกายและทรงผมของบุคคลที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนัง  ทำให้เราเห็นภาพของชาวพม่า(บุคคลที่แต่งกายแบบพม่า) ปรากฏอยู่บนจิตรกรรมฝาผนังของวัดหลายแห่งในภาคเหนือ สะท้อนให้เห็นว่าจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ได้รับการอุปถัมภ์โดยคหบดีชาวพม่าที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทยในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19  

Ethnic groups from Burma(Myanmar) and the creation of a common “Burmese-ness” through mural paintings in Lanna

        

      

              This paper examines how and why ethnic groups from Myanmar, who moved into Northern Thailand during the nineteenth and early twentieth centuries, preferred to represent their sense of “Burmese-ness” using the styles and traditions of Burmese art in their mural paintings. It not only reflects how the ethnic groups created a Burmese cultural identity but also how it shaped Thai perceptions of these groups as ‘Burmese’ (Chao phama). The study found that ethnic groups were not concerned with accurately representing their cultural identity when in the Thai sphere.  Burmese migrants, such as Burman, Mon, Pa-O (Taungthu) and Shan, who were the patrons of monasteries, reproduced and effectively supported the art of the Burmese court in the Konbaung (Mandalay) style as their material culture in both Burmese and Thai monasteries. Their political identity as ‘British Burmese subjects’ constituted another significant reason for ethnic groups to patronize Burmese material culture in Thai society. 

 

 

Article Details

Section
Academic article