ขอบเขตของบทความที่รับตีพิมพ์

          วารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์รับพิจารณาบทความวิจัย บทความวิทยานิพนธ์ หรือบทความวิชาการรูปแบบอื่น ๆ ทางด้านนิติศาสตร์ทุกแขนงสาขา เช่น กฎหมายเอกชน กฎหมายอาญา กฎหมายมหาชน กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายพาณิชย์ธุรกิจ กฎหมายภาษี กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเปิดรับพิจารณาบทความจากศาสตร์อื่น ๆ หรือบทความสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายซึ่งเป็นประโยชน์กับวงการนิติศาสตร์

กำหนดการตีพิมพ์

          วารสารมีกำหนดการตีพิมพ์ปีละ 4 ฉบับ ราย 3 เดือน ตามวาระดังต่อไปนี้

          ฉบับที่ 1 เดือน มกราคม - มีนาคม

          ฉบับที่ 2 เดือน เมษายน - มิถุนายน

          ฉบับที่ 3 เดือน กรกฎาคม - กันยายน

          ฉบับที่ 4 เดือน ตุลาคม - ธันวาคม

 

แนวปฏิบัติการส่งบทความเพื่อรับพิจารณา

  1. เป็นบทความในขอบเขตของวารสารที่ไม่เคยตีพิมพ์หรืออยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่นมาก่อน ซึ่งผู้เขียนได้เรียบเรียงด้วยตนเอง โดยปราศจากการลอกเลียน (plagiarism) โดยมิชอบ
  2. บทความที่ส่งต้องจัดพิมพ์ด้วยโปรแกรม Microsoft Word ขนาดตัวอักษร 15 pt. เว้นวรรคบรรทัดเดียว (single-line spacing) ใช้ตัวอักษร TH SarabunPSK ตัวเลขให้พิมพ์เป็นเลขอารบิก กั้นหน้ากระดาษบนและล่าง 1 นิ้ว (2.54 เซนติเมตร) ซ้ายและขวา 1.1 นิ้ว (2.8 เซนติเมตร)
  3. การอ้างอิงให้ใช้รูปแบบการอ้างอิงแบบเชิงอรรถ ขนาดตัวอักษร 12 pt. โดยเป็นไปตามรูปแบบการอ้างอิงงานเขียนทางนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  4. ให้มีบทคัดย่อภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ความยาวอย่างละไม่เกิน 550 คำ และคำสำคัญภาษาไทยและภาษาอังกฤษอย่างน้อย 3 คำ
  5. ให้มีบรรณานุกรม โดยเอกสารที่ระบุในบรรณานุกรมจะต้องได้รับการอ้างถึงแล้วในบทความเท่านั้น ทั้งนี้ รูปแบบให้เป็นไปตามรูปแบบการอ้างอิงงานเขียนทางนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  6. เนื้อหาของบทความรวมเชิงอรรถ ไม่รวมบรรณานุกรม ต้องไม่เกิน 25 หน้า

          หากกองบรรณาธิการตรวจพบว่าบทความที่เสนอพิจารณาไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติข้างต้น บทความจะถูกส่งกลับไปยังผู้เขียน เพื่อให้ทำการแก้ไขบทความดังกล่าวให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติอย่างถูกต้องสมบูรณ์ก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาบทความ

 

กระบวนการพิจารณาบทความ

          บทความที่เป็นไปตามแนวปฏิบัติข้างต้นจะได้รับการประเมินพิจารณาโดยผู้ทรงคุณวุฒิประเมินคุณภาพบทความ (Peer review) ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวจากต่างสถาบันอย่างน้อย 2 ท่านต่อหนึ่งบทความ โดยเป็นการประเมินคุณภาพซึ่งผู้ทรงคุณวุฒิไม่ทราบข้อมูลผู้ส่งบทความ และผู้ส่งบทความไม่ทราบข้อมูลผู้ทรงคุณวุฒิ (double-blinded review)

          ในกรณีที่ผู้ประเมินคุณภาพบทความพิจารณาว่าสามารถตีพิมพ์ได้ แต่ต้องมีการแก้ไขก่อน ผู้ส่งบทความจะต้องปรับปรุงบทความตามข้อเสนอแนะของผู้ประเมิน โดยต้องแสดงให้กองบรรณาธิการเห็นถึงประเด็นที่ได้ปรับแก้ดังกล่าวอย่างชัดเจน อนึ่ง หากเรื่องใดผู้เขียนยืนยันจะคงถ้อยความเดิมไว้ ก็จะต้องชี้แจงให้เหตุผลกลับมายังกองบรรณาธิการ เพื่อกองบรรณาธิการจะได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นรายประเด็น

          โดยทั่วไปแล้วกระบวนการพิจารณาบทความ รวมถึงขั้นตอนตรวจสอบเบื้องต้นก่อนกระบวนพิจารณาจะใช้ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 3 เดือน ทั้งนี้ วารสารบัณฑิตศึกษานิติศาสตร์ไม่มีนโยบายรับพิจารณาบทความโดยช่องทางพิเศษสำหรับกรณีเร่งด่วน (Fast Track) แต่อย่างใด

 

ค่าธรรมเนียมในการเสนอบทความเพื่อตีพิมพ์      

        บทความที่เสนอตีพิมพ์ในวารสารมีค่าธรรมเนียมการพิจารณาและประเมินบทความรวมทั้งสิ้น 2,500 บาทต่อหนึ่งบทความ โดยผู้ส่งบทความจะต้องชำระต่อเมื่อบทความได้รับการพิจารณาให้เข้าสู่กระบวนการประเมินคุณภาพบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิ

          ผู้เขียนที่เป็นอาจารย์ นักวิจัย หรือนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว

          การชำระค่าธรรมเนียมข้างต้น ให้ผู้เสนอบทความฝากเงินเข้าบัญชี คณะนิติศาสตร์ มธ. (ค.นิติศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรใหม่)) ธนาคารกรุงเทพ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 905-0-09306-2 แล้วแนบไฟล์หลักฐานการโอนเงินในขั้นตอนการ upload file ตรงขั้นตอน Submission บทความผ่านระบบ