ผลของการบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น หน่วยภาวะโลกร้อน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

Authors

  • สันติ สีลา Khon Kean University
  • คงศักดิ์ ธาตุทอง Khon Kean University

Keywords:

Integration, Sufficiency economy, 7-E learning cycle

Abstract

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ คือ 1) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 3 หน่วย ภาวะโลกร้อน ที่มีการบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น 2) ศึกษาความสามารถในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยความพอเพียงของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 3 หน่วย ภาวะโลกร้อน ที่มีการบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น 3) ศึกษาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของนักเรียน 4) ศึกษาพฤติกรรมการนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน กลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนชุมชนบ้านฝาง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขอนแก่น เขต 1 จำนวน 34 คน การวิจัยใช้รูปแบบการวิจัยที่ยังไม่เข้าขั้นการทดลอง (Pre-Experimental Design ) ผู้วิจัยใช้รูปการศึกษาแบบการทดลองหนึ่งครั้ง (One-shot case study) (จริยา สถบุตร, 2526) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ การบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับวัฏจักรการเรียนรู้ 7 ขั้น ในการสอนหน่วย ภาวะโลกร้อน 2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยความพอเพียง 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 4) แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 5) แบบสัมภาษณ์ผู้ปกครองเกี่ยวกับพฤติกรรมการปฏิบัติตนของนักเรียนที่มีผลต่อการช่วยลด ภาวะโลกร้อนแบบ เช็คลิส วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า 
1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมีคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 23.32 คะแนน จากคะแนนเต็ม 30 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 77.74 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ ร้อยละ 75 มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 3.17 และมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 28 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 34 คน คิดเป็นร้อยละ 82.35 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ ร้อยละ 75 2) ความสามารถในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยความพอเพียงของนักเรียนมีคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 41.11 คะแนน จากคะแนนเต็ม 50 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 82.23 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือร้อยละ 75 มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 5.74 และมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 29 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 34 คน คิดเป็นร้อยละ 85.29 สูงกว่าเกณฑ์ ที่ตั้งไว้คือ ร้อยละ 75 3) ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของนักเรียน มีคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 15.35 คะแนน จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 76.76 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือร้อยละ 60 มีค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 3.57 และมีจำนวนนักเรียนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด 32 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 34 คน คิดเป็นร้อยละ 94.11 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ ร้อยละ 70 4) พฤติกรรมการนำความรู้ตามหลักปรัชญา 
ของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน พบว่านักเรียนมีพฤติกรรมการประหยัดน้ำและไฟ 28 คน คิดเป็นร้อยละ 82.35 ดูแลและปลูกต้นไม้ 24 คน คิดเป็นร้อยละ 70.58 และใช้สิ่งของอย่างคุ้มค่า 17 คน คิดเป็นร้อยละ 50.00

Downloads

Published

2014-10-24

Issue

Section

มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์