การจัดการทรัพยากรมนุษย์ในเศรษฐกิจยุคใหม่

Main Article Content

ธเนศ ยุคันตวนิชชัย

บทคัดย่อ

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนแนวคิดการจัดการทรัพยากรมนุษย์ว่าอยู่ภายใต้อิทธิพลความคิดที่มีเหตุผลกลไกของบริบทด้านใดอันก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด ซึ่งโลกปัจจุบันหลายองค์กรต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยมีแรงกดดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ ปัจจัยภายนอกและภายในจากสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจยุคใหม่เป็นเหตุให้ทรัพยากรมนุษย์ต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่แนวคิดการจัดการทรัพยากรมนุษย์มีการพัฒนาตัวแบบจากนักคิด 2 กลุ่ม คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้แก่ ตัวแบบกลุ่มฮาร์วาร์ด ตัวแบบกลุ่มมิชิแกน และกลุ่มนักคิดในสหราชอาณาจักรมี 2 แนวคิด ได้แก่ กลุ่มอ่อนเป็นกลุ่มนักคิดที่ให้ความสำคัญกับคนมากกว่าการบริหารจัดการ และกลุ่มแข็งจะให้ความสำคัญกับการจัดการมากกว่าเรื่องของคน ส่วนแนวความคิดเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับความสนใจสามารถแบ่งได้ดังนี้ ประเด็นที่หนึ่ง ได้แก่ การบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ซึ่งทำหน้าที่กำหนดหลักการจัดระเบียบทั้งในด้านเศรษฐกิจการเมืองและสังคมขององค์กร ส่วนประเด็นที่สอง ได้แก่ บทบาทของการจัดการทรัพยากรมนุษย์ควรทำหน้าที่การคิดในลักษณะการสร้างมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ คือ การมองว่ามีสิ่งใดบ้างที่มนุษย์มีอยู่อันสามารถดึงออกมาใช้ในการผลิตที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของหลักเศรษฐศาสตร์ที่เน้นเรื่องของกำไรขาดทุนอันส่งผลถึงประสิทธิผลและผลงานขององค์กร ขณะเดียวกันกรอบปรัชญาด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์สามารถอธิบายได้ด้วย (1) ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ (2) ทฤษฎีระบบ และ (3) ทฤษฎีจิตวิทยา นอกจากนั้นแล้วกระบวนการจัดการทรัพยากรมนุษย์ควรมีการกำหนดวัตถุประสงค์ และจำเป็นต้องมีพันธกิจหลักด้านการบริหาร ซึ่งปัจจุบันองค์กรได้นำภาระหน้าที่ของฝ่ายจัดการทรัพยากรมนุษย์มากำหนดโครงสร้างหน่วยงานทรัพยากรมนุษย์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพันธกิจของการพัฒนาที่ประกอบด้วยการพัฒนาบุคคล การพัฒนาอาชีพ การบริหารผลการปฏิบัติงาน และการพัฒนาองค์กรอย่างบูรณาการเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของบุคคล

Article Details

บท
บทความวิชาการ (Academic articles)