ส้มปลาโดแม่น้ำโขง: การปรับตัวของชาวบ้านและห่วงโซ่อุปทานอาหารในลุ่มน้ำโขงในระบบตลาด

Main Article Content

สร้อยมาศ รุ่งมณี

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ


บทความนี้มุ่งทำความเข้าใจการปรับตัวของชาวบ้านในหมู่บ้านอีสานในลุ่มน้ำโขงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในเรื่องระบบนิเวศและการเข้าถึงตลาดผ่านการพัฒนาการผลิตอาหารท้องถิ่นอันมีชื่อเสียงโด่งดังที่เรียกว่า “ส้มปลาโด” โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการวิจัยเอกสาร สัมภาษณ์และสังเกตผู้ผลิตส้มปลาโดจำนวนในพื้นที่ ต. ไชยบุรี อ. ท่าอุเทน จ. นครพนม และผู้เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรปลา ได้แก่ เจ้าของร้านอาหาร ชาวประมงพื้นบ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ บทความชี้ให้เห็นถึงการขยายห่วงโซ่อุปทานอาหารที่มีผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ที่ไกลและมากขึ้นเรื่อย ๆ และการเปลี่ยนผ่านการผลิตอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากในท้องถิ่นที่รู้ที่มาไปสู่วัตถุดิบที่ไม่รู้ที่มา จากในอดีตที่ชาวบ้านสามารถพึ่งพาความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำรวมถึงพัฒนาภูมิปัญญาในการถนอมอาหารจากปลา จนกระทั่งราวสามทศวรรษที่ผ่านมาเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสาธารณูปโภค มีการเปลี่ยนแปลงการผลิตสู่การค้าทําให้หมู่บ้านแห่งนี้สามารถเข้าถึงตลาดได้พร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากร ขณะที่ความต้องการปลาเพื่อการบริโภคและเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลาเพิ่มมากขึ้น และผลิตภัณฑ์ “ส้มปลาโด” ของหมู่บ้านได้กลายเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ปลาธรรมชาติกลับลดลงโดยปลาโดซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารชนิดนี้แทบจะหาไม่ได้อีกต่อไป  ชาวบ้านที่ผลิตอาหารแปรรูปจากปลามีการปรับตัวโดยการสั่งซื้อปลาบ่อจากจังหวัดในภาคกลางมาใช้ในการผลิตแทนที่ปลาธรรมชาติ บทความสะท้อนประเด็นการปรับตัวของชาวบ้านในระบบตลาดที่จะต้องพัฒนาสินค้าและหาวัตถุดิบทดแทนจากถิ่นอื่น และประเด็นการประกอบสร้างความเป็นท้องถิ่นผ่านสินค้าเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แม้การผลิตส้มปลาจะไม่ได้ใช้ปลาโดอีกแล้ว แต่ชาวบ้านยังต้องรักษาความเป็นท้องถิ่นนิยมและยังคงเรียกสินค้าของตนเองว่า “ส้มปลาโดแม่น้ำโขง”

Article Details

บท
บทความวิชาการ (Academic articles)