พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และผลกระทบ ต่อนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดเพชรบูรณ์

Main Article Content

หยาดพิรุณ ศุภรากรสกุล

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรม ผลกระทบและปัญหา ที่เกิดจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดเพชรบูรณ์ และหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น กลุ่มตัวอย่างได้แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 380 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม ผลการวิจัยพบว่า


ประการแรก นักเรียนที่ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ใช้งาน Facebook คิดเป็นร้อยละ 97.1 มีวัตถุประสงค์ในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อติดต่อเพื่อน เวลาเฉลี่ยในการใช้สังคมเครือข่ายออนไลน์เท่ากับ 5.59  ชั่วโมงต่อวัน มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 416.77 บาทต่อเดือน


ประการที่สอง ผลกระทบจากการใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ด้านอารมณ์ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยเมื่อรู้สึกโดดเดี่ยวหรืออยู่คนเดียว นักเรียนมักจะใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อหาเพื่อนคุยหรือติดตามข้อมูลข่าวสาร มีผลกระทบมากที่สุด ผลกระทบต่อด้านสังคม พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์  โดยบุคคลในครอบครัวไม่พอใจเมื่อนักเรียนใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์มากเกินไป มีผลกระทบมากที่สุด ผลกระทบต่อด้านการเรียน พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยมีเวลาว่าง นักเรียนมักจะใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ก่อนที่จะใช้เวลาว่างทำกิจกรรมอื่นที่ได้รับมอบหมาย มีผลกระทบมากที่สุด นอกจากนี้ยังพบอีกว่า นักเรียนมีผลการเรียนต่ำลง เนื่องจากใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ส่วนผลกระทบต่อด้านสุขภาพ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยนักเรียนมักพักผ่อนไม่เพียงพอจนทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เนื่องจากใช้เครือขายสังคมออนไลน์ดึกเกินไป มีผลกระทบมากที่สุด


ประการที่สาม ระยะเวลาการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ต่อวันของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในจังหวัดเพชรบูรณ์จำแนกทั้ง 2 ช่วงชั้นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 โดยระยะเวลาการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ต่อวันของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสูงกว่านักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยผู้ปกครองควรเอาใจใส่การเข้าใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ของบุตรหลาน มีการจัดการอบรมให้ความรู้เพื่อให้ตระหนักถึงโทษหรือภัยที่เกิดจากการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ และควรส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การเล่นกีฬา การเล่นดนตรี การออกค่ายจิตอาสา เป็นต้น

Article Details

บท
บทความวิจัย (Research paper)