การนำนโยบายโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไปปฏิบัติ: กรณีศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Main Article Content

สุเมธ หงษ์สาชุม
สุรางค์ ณรงค์ศักดิ์สกุล

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ  1) วิเคราะห์สภาพปัจจุบันของการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ภายใต้การนำนโยบายโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไปปฏิบัติ  2) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการนำนโยบายโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไปปฏิบัติของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์  3) เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลการนำนโยบายโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไปปฏิบัติของวิทยาเขตต่างๆ การศึกษาครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ศึกษาจากเอกสารสรุปการประชุมวิชาการและเอกสารรายงานสรุปผลงานประจำปีของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระหว่างปี พ.ศ.2550-2555 และสัมภาษณ์ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 8 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์ชนิดมีโครงสร้าง และส่วนที่ 2 การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการนำนโยบายโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไปปฏิบัติของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน จำนวน 359 คน ซึ่งได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นตามสัดส่วน เครื่องมือที่ใช้เก็บข้อมูลรวบข้อมูล คือ แบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.869 ค่าสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ร้อยละค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความแปรปรวนทางเดียวและสัมประสิทธิ์การถดถอยพหุคูณ  โดยกำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05


ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) การวิเคราะห์สภาพปัจจุบัน พบว่าประสิทธิผลการดำเนินงานก่อนและหลังการนำนโยบายโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไปปฏิบัติตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้ง 4 วิทยาเขต อยู่ในระดับต่ำมาก (ร้อยละ 12.85 และ 16.09 ตามลำดับ) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่าทั้ง 4 ด้านอยู่ในระดับต่ำ ได้แก่ปริมาณผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ (ร้อยละ 18.48, 27.38 ตามลำดับ) ปริมาณผลงานวิจัยที่ได้รับการอ้างอิง (ร้อยละ 9.34, 13.47 ตามลำดับ) ปริมาณผลงานวิจัยที่ได้รับการจดสิทธิบัตร (ร้อยละ 0.11, 0.32 ตามลำดับ) และจำนวนทุนวิจัย (ร้อยละ 23.45, 23.20 ตามลำดับ) 2) การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการนำนโยบายโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไปปฏิบัติ พบว่าปัจจัย 4 ปัจจัย ได้แก่ ด้านนโยบายและแผน ด้านการบริหาร ด้านความรู้  ความเข้าใจและจรรยาบรรณนักวิจัย และด้านทัศนคติของผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ สามารถร่วมกันพยากรณ์ประสิทธิผลการนโยบายโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไปปฏิบัติได้เพียงร้อยละ 0.20 (R2 = 0.002) โดยมีค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยพหุคูณ เท่ากับ 0.019, 0.031, 0.019 และ 0.009 ตามลำดับ และ 3) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ต่างวิทยาเขตกันมีประสิทธิผลการนำนโยบายโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติไปปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกัน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กล้า ทองขาว. 2548. การนำนโยบายและแผนการศึกษาไปปฏิบัติ : แนวคิดทฤษฏี และแนวการ ดำเนินงาน. นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
คณะกรรมการการอุดมศึกษา. 2554. แผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาฉบับที่ 10 พ.ศ.2551-2554.กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา.
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2552. รายงานสัมมนานักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กับการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล อาคารสารนิเทศ 50 ปี. มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์: กรุงเทพมหานคร.
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา. 2552. โครงการส่งเสริมการวิจัยในอุดมศึกษาและการพัฒนามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา.
พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 2541. เล่มที่ 115 ตอนที่ 15ก. ราชกิจจานุเบกษา 24 มีนาคม 2541.
Nicolas, S. and N. Konstantinos. 2010. “Forecasting the Effectiveness of Policy Implementation Strategies.” International Journal of Public Administration 33: 88–97.