รูปแบบการพัฒนาชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน : กรณีศึกษาบ้านดอนแดง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

Main Article Content

รังสรรค์ สิงหเลิศ, Ph.D.
นิภาภรณ์ จงวุฒิเวศย์

บทคัดย่อ

            การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการในการพัฒนาชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน บ้านดอนแดง ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม 2) เพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนบ้านดอนแดง ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม  และ  3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน บ้านดอนแดง ตำบลศรีสุข  อำเภอกันทรวิชัย  จังหวัดมหาสารคาม  โดยพิจารณาจาก (1) รายได้ครัวเรือน (2) รายจ่ายครัวเรือน  (3)  จำนวนพืชเพื่อการยังชีพ (มะละกอ พริก มะเขือ ตะไคร้ หอม กระเทียม มะนาว ย่านาง ถั่วฝักยาว กล้วย ข่า ตำลึง ไผ่ ผักกาด ผักคะน้า สะหระแหน่ ผักชีจีน  ผักชีไทย ใบมะกรูด ฯลฯ)  (4) จำนวนสัตว์เพื่อการยังชีพ (เป็ด  ไก่ ปลา กบ จิ้งหรีด  ฯลฯ) (5)  จำนวนเห็ดเพื่อการยังชีพ (เห็ดนางฟ้า  เห็ดขอนขาว เห็ดหูหนู)  (6)  จำนวนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ซื้อจากร้านค้า (พริก ข่า  ตะไคร้  ย่านาง มะละกอ มะเขือ  หอม  กระเทียม มะนาว ถั่วฝักยาว  กล้วย  ตำลึง  หน่อไม้  ผักกาด  ผักคะน้า  สะหระแหน่ ผักชีจีน  ผักชีไทย ใบมะกรูด น้ำยาล้างจาน ยาสระผม  สุรา  บุหรี่ ฯลฯ) และ  (7) ความพึงพอใจต่อการพัฒนาชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน   วิธีการดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ  ระยะที่ 1 การเตรียมการ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้วิจัย  ผู้นำชุมชน หัวหน้าครัวเรือนและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ  โดยใช้กิจกรรมที่ดำเนินการดังนี้ 1) การสร้างสัมพันธ์กับชุมชน 2)  การสำรวจและการศึกษาชุมชน  3) การเตรียมคนและเครือข่ายความร่วมมือ ระยะที่  2 ดำเนินการวิจัย เพื่อสร้างและพัฒนารูปแบบโดยการวิพากษ์โดยผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วยกิจกรรม ดังต่อไปนี้ 1) การศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาชุมชน 2) สร้างและพัฒนารูปแบบ ระยะที่ 3 นำไปใช้และติดตามประเมินผลรูปแบบการพัฒนาชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยใช้กับกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 58  คน และเปรียบเทียบ รายได้ครัวเรือน  รายจ่ายครัวเรือน  จำนวนพืชเพื่อการยังชีพ  จำนวนสัตว์เพื่อการยังชีพ  จำนวนเห็ดเพื่อการยังชีพ  และความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน  ก่อนและหลังการการพัฒนา โดยวิเคราะห์ข้อมูลด้วย MANOVA (Repeated Measure)


ผลการวิจัย  พบว่า


  1. ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา  ปลูกมันสำปะหลัง เลี้ยงสัตว์ โดยอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติ  หัวหน้าครัวเรือนต้องการเรียนรู้  เรื่อง การเลี้ยงปลาดุก การทำปุ๋ยชีวภาพ การเลี้ยงกบ   การเลี้ยงจิ้งหรีด การเลี้ยงวัว การเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง การปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ การเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงเป็ดเทศและ การเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง

  2. รูปแบบการพัฒนาชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ที่ผ่านการพิจารณาของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผ่านการประเมินความเหมาะสมของกิจกรรม ได้จำนวน 10 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) การทำผ้าหมี่ย้อมคราม 2) การส่งเสริมอาชีพกองทุนหมู่บ้าน 3) การทำไร่นาสวนผสม 4) การปรับภูมิทัศน์จัดสวนหน้าบ้าน 5) การเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมือง 6) การเลี้ยงและขยายพันธุ์สุกร 7) การทำปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด 8) การปลูกละมุด 9) เกษตรอินทรีย์ปลอดภัยจากสารพิษ และ10) การเพาะเห็ดขอนขาว

  3. จากการเปรียบเทียบก่อนและหลังการพัฒนา พบว่า รายได้ครัวเรือน รายจ่ายครัวเรือน  จำนวนพืชเพื่อการยังชีพ จำนวนสัตว์เพื่อการยังชีพ จำนวนเห็ดเพื่อการยังชีพ จำนวนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ซื้อจากร้านค้า และความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน  แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  กล่าวคือ หลังการพัฒนา รายได้ครัวเรือน จำนวนพืชเพื่อการยังชีพ จำนวนสัตว์เพื่อการยังชีพ จำนวนเห็ดเพื่อการยังชีพ  และ ความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการพัฒนาชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น ส่วนรายจ่ายครัวเรือน และจำนวนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ซื้อจากร้านค้าลดลง  สามารถสรุปรูปแบบการพัฒนาชุมชนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ได้เป็น 6 ขั้นตอนดังนี้ 1) สร้างความสัมพันธ์กับชุมชน  2) ทัศนศึกษาดูงานหมู่บ้านต้นแบบ  3) ศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการของชุมชน 4) ร่วมกันวิเคราะห์ความต้องการ และเลือกกิจกรรมที่จะนำไปปฏิบัติที่เหมาะสม 5) ลงมือปฏิบัติ และ 6) คืนความรู้สู่ชุมชน 

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

[1] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2550). การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ ที่ 10 (พ.ศ. 2550 - 2554) สืบค้นจาก http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=139
[2] เสรี พงศ์พิศ. (2546). แผนชีวิตเศรษฐกิจชุมชน. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ภูมิปัญญาไทย.
[3] สุเมธ ตันติเวชกุล. (2549). ชีวิตพอเพียง. นิตยสารแพรว รายปักษ์ (25 พฤษภาคม), 254 - 258.
[4] เกื้อ วงค์บุญสิน. (2538). ประชากรกับการพัฒนา. (กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) หน้า 70.
[5] สมทรง บรรจงธิติทานต์. (2560). แนวทางการจัดการชุมชนพึ่งตนเองอย่างยั่งยืนกรณีศึกษาบ้านหัวคู ตำบลพระยาบันลือ อำเภอ ลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์), 7(1), 185-199.
[6] พระใบฏีกาสุพจน์ ตปสีโล. (2561). การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน:การเชื่อมโยงชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงและหมู่บ้านรักษาศีล 5 ในจังหวัด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์และสุรินทร์. Journal of MCU Peace Studies, 6(1), 116-128.
[7] กริชพัฒน์ ภูวนา. (2554). รูปแบบการพัฒนาชุมชนอยู่ดีมีสุข กรณีศึกษา: บ้านดอนมัน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.
[8] สุภาพร ลาภจิตร. (2552). การวิจัยเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การออกแบบและพัฒนาระบบจัดการเรียนรู้ภาคประชาชนพื้นฐานวิถี สุรินทร์แบบบูรณาการสู่สังคมชุมชนพึ่งตนเอง. สุรินทร์ : สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดสุรินทร์.