โครงการพัฒนาทักษะการฟังพูดภาษาญี่ปุ่นโดยใช้โปรแกรมสไกป์: การสำรวจความคิดเห็นและการประเมินตนเองของนักศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการ

ผู้แต่ง

  • สุณีย์รัตน์ เนียรเจริญสุข คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • พัชราพร แก้วกฤษฎางค์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • เผ่าสถาพร ดวงแก้ว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คำสำคัญ:

การศึกษาภาษาญี่ปุ่นในฐานะภาษาต่างประเทศ, ทักษะการฟังพูดภาษาญี่ปุ่น, โปรแกรมสไกป์, แรงจูงใจ, กิจกรรมนอกชั้นเรียน

บทคัดย่อ

เนื่องจากผู้เรียนภาษาญี่ปุ่นนอกประเทศญี่ปุ่นมีโอกาสติดต่อสื่อสารกับชาวญี่ปุ่นในชีวิตประจำวันน้อย ดังนั้นการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้สื่อสารกับชาวญี่ปุ่นอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่งเพื่อพัฒนาทักษะ การฟังพูดและทักษะการสื่อสารภาษาญี่ปุ่นให้กับผู้เรียน คณะผู้วิจัยจึงจัดโครงการพัฒนาทักษะการฟังพูดภาษาญี่ปุ่นโดยใช้โปรแกรมสไกป์ โครงการนี้เป็นกิจกรรมฝึกฝนนอกชั้นเรียนให้นักศึกษาชาวไทยสนทนากับนักศึกษาชาวญี่ปุ่นโดยใช้โปรแกรมสไกป์ เป็นการจับคู่สนทนาระหว่างนักศึกษาชาวไทยวิชาเอกภาษาญี่ปุ่นกับนักศึกษาชาวญี่ปุ่นวิชาเอกภาษาไทยครั้งละ 30 นาที โดย 15 นาทีแรกสนทนาด้วยภาษาไทย และ 15 นาทีหลังสนทนาด้วยภาษาญี่ปุ่น ระยะเวลารวม 6 สัปดาห์ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 คณะผู้วิจัยแจกแบบสอบถามให้นักศึกษาในทันทีที่เริ่มโครงการและหลังเสร็จสิ้นโครงการ งานวิจัยนี้เป็นการสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการและให้นักศึกษาประเมินความสามารถด้านการฟังพูดภาษาญี่ปุ่นของตนเอง

ผลการศึกษาพบว่านักศึกษามีความคิดเห็นด้านบวกต่อการฝึกฝนการสนทนาผ่านโปรแกรมสไกป์นี้อาจกล่าวได้ว่าโครงการนี้สามารถช่วยสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษาญี่ปุ่นให้กับนักศึกษา แม้จะพบปัญหานักศึกษามากกว่าร้อยละ 90 ไม่สามารถสนทนาได้ครบตามจำนวนชั่วโมงและจำนวนครั้งที่กำหนดซึ่งสาเหตุหลัก คือ เวลาว่างของนักศึกษาไม่ตรงกัน นักศึกษาส่วนใหญ่เตรียมคิดหัวข้อที่จะสนทนาและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องหัวข้อสนทนาหลักคงเป็นเรื่องใกล้ตัว โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดี แม้มีการเตรียมคิดหัวข้อและเนื้อหาไว้ล่วงหน้า แต่ในการสนทนาจริงนักศึกษายังคงประสบปัญหาไม่รู้จะพูดคุยเรื่องอะไรดี นอกจากนี้นักศึกษายังคงพบปัญหาด้านภาษาโดยเฉพาะคำศัพท์ ด้านการประเมินตนเอง นักศึกษาประเมินความสามารถด้านการฟังพูดของตนเองในระดับปานกลางประเด็นที่น่าสนใจ คือ นักศึกษาไทยมีแนวโน้มประเมินความสามารถของตนเองในระดับต่ำกว่าความเป็นจริงสืบเนื่องจากการไม่คุ้นชินกับระบบการประเมินตนเอง ดังนั้น การทดสอบทักษะการฟังพูดภาษาญี่ปุ่นของนักศึกษาก่อนและหลังการเข้าร่วมโครงการเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการในการศึกษาครั้งต่อไป นอกจากนี้ นักศึกษามีข้อคิดเห็นสำหรับการจัดโครงการครั้งต่อไปโดยเสนอแนะช่องทางการสนทนาอื่น เช่น โปรแกรมไลน์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรพิจารณาสำหรับการศึกษาครั้งต่อไปเช่นกัน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-01-02