ปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนดนตรีของวงออร์เคสตราเยาวชนในประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • เศรษฐพงศ์ จรรยารยชน

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของวงออร์เคสตราเยาวชนในประเทศไทย 2) เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนของวงออร์เคสตราเยาวชนในประเทศไทย กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย 1) วงออร์เคสตราเยาวชนจำนวน 4 วง ได้แก่ วงดุริยางค์เยาวชนไทย วงดุริยางค์เยาวชนสยามซินโฟนิเอตต้า วงดุริยางค์เยาวชนสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา และวงดุริยางค์เยาวชนค่ายดนตรีฤดูร้อนศิลปากร 2) ผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทเกี่ยวกับวงออร์เคสตรา ได้แก่ ผู้จัดการวงดนตรีเยาวชน วาทยากร ครูผู้อบรม และนักดนตรีที่มีประสบการณ์ในวงออร์เคสตราเยาวชนรวม 4 วง เป็นจำนวน 16 คน เครื่องมือวิจัยได้แก่ 1) แบบบันทึกการวิเคราะห์เอกสาร 2) แบบสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับวงออร์เคสตรา วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งตามลักษณะของข้อมูลได้แก่ 1) ข้อมูลเชิงปริมาณ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ และตีความเชิงบรรยาย 2) ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา โดยการจำแนกประเภท เปรียบเทียบข้อมูล ตีความข้อมูล และสร้างข้อสรุปเชิงอุปนัย และการสร้างทฤษฎีฐานราก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลแสดงให้เห็นปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนของวงออร์เคสตราเยาวชนในประเทศไทย
ผลการวิจัยสรุปได้ว่า

1. การศึกษาประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของวงออร์เคสตราเยาวชนในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็น ได้แก่ การก่อตั้ง วัตถุประสงค์ และประเภทของวง จากการศึกษาพบว่าวงออร์เคสตราเยาวชนเแต่ละวงมีบริบทของการก่อตั้งที่แตกต่างกัน โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันคือการพัฒนาทักษะความสามารถทางด้านดนตรี ทั้งนี้การจัดการเรียนการสอนจะมีความแตกต่างกันไปตามเป้าหมายด้านความเป็นเลิศของผู้เรียนในแต่ละวง
2. ปัจจัยที่ส่งผลต่อกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอนของวงออร์เคสตราเยาวชนในประเทศไทย ประกอบด้วย 4 ปัจจัยหลัก คือ 1) ด้านครูผู้สอน พบว่าครูผู้ฝึกอบรมแต่ละวงมีคุณวุฒิและประสบการณ์คล้ายคลึงกัน ทั้งนี้วาทยากรเป็นผู้มีบทบาทในการสอนซึ่งมีความสำคัญในกิจกรรมและการสอนของวงออร์เคสตราเยาวชน ครูผู้ฝึกอบรมมีบทบาทภายใต้บริบทของการทำงานของวาทยากร โดยมีหน้าที่ช่วยให้การดำเนินการฝึกซ้อมของวาทยากรมีความราบรื่นยิ่งขึ้น 2) ด้านผู้เรียน พบว่าความแตกต่างในเชิงทักษะด้านดนตรีของผู้เรียนในแต่ละวงมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดแนวทางการจัดการเรียนการสอนและการกำหนดสาระการเรียนรู้ 3) ด้านสาระการเรียนรู้ พบว่ามีความสัมพันธ์โดยตรงกับทักษะของผู้เรียนและการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอน 4) บริบททางการเรียนการสอน ประกอบด้วย กระบวนการบริหาร งบประมาณ สภาพแวดล้อมการสอน และการวัดประเมินผล พบว่าประเด็นด้านงบประมาณเป็นปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมวงออร์เคสตราเยาวชน

ปัจจัยทั้งสี่ด้านมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ของการจัดการเรียนการสอนในวงออร์เคสตราเยาวชนที่แตกต่างกันออกไปตามบริบทและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาผู้เรียนของแต่ละวง โดยมีการจัดการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา

Downloads