การศึกษาวรรณกรรมพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับชื่อลายผ้าไหมในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • กาญจนา คำผา คณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

คำสำคัญ:

วัฒนธรรมผ้าไหม , ผ้าไหมปักธงชัย, เรื่องเล่าบนลายผ้า

บทคัดย่อ

       งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาที่มาและประเภทของลายผ้าไหมในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา  และวิเคราะห์วรรณกรรมพื้นบ้านที่เกี่ยวกับชื่อลายผ้าไหม ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับวิทยากรอาชีพทอผ้าไหม 13 คน อายุ 40 ปีขึ้นไปที่อยู่ใน ตำบลตะคุ ตำบลเมืองปัก และตำบลธงชัยเหนือ ระยะเวลาวิจัย 6 เดือน แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ตรวจสอบคุณภาพโดยใช้การทดสอบแบบสามเส้า

       ผลการศึกษาวิจัยพบว่าลายผ้าไหม มีที่มาจาก 2 วิธี ได้แก่ 1) การได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ   โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ของครอบครัวและสังคมในชุมชน ชาวบ้านที่ทอผ้าส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทอผ้าไหมอยู่แล้ว ได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ลวดลายของผ้าไหมของชาวปักธงชัยเกิดจากปัจจัยหลักคือ ทอตามคำสั่งซื้อ และทอตามจินตนาการ 2) การคิดค้นลายผ้าขึ้นใหม่ เกิดจากการสังเกตความงามของธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม จินตนาการ การรับข่าวสาร รวมถึงแรงบันดาลใจจากสื่อ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ส่วนจุดประสงค์ในการทอเพื่อสนองผู้บริโภคในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวสร้างอัตลักษณ์แก่ตนเอง สร้างชื่อเสียงในการประกวด และเพิ่มมูลค่าผ้าไหม ส่วนประเภทของลายผ้า ได้แก่ ลายสัตว์ ลายพืช  ลายสิ่งของเครื่องใช้ ลายปรากฏการณ์ธรรมชาติ และลายอื่นๆ

       ด้านการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของชื่อลายผ้าไหมกับวรรณกรรมพื้นบ้านพบว่า วรรณกรรมมุขปาฐะประเภทเรื่องเล่าเกี่ยวกับชื่อลวดลายผ้าไหมทำหน้าที่สะท้อนความเชื่อความคิดที่มีต่อสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ลวดลายเหล่านี้แสดงถึงให้เห็นบริบททางวัฒนธรรมที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรท้องถิ่น ความเชื่อในศาสนา ค่านิยมของสังคม และรูปแบบวิถีชีวิตของชาว ปักธงชัย

References

กรมศิลปากร. (2540). ผ้าพื้นเมืองอีสาน. กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
กิตติกรณ์ นพอุดมพันธุ์ (2559). วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ. ปีที่ 17 ฉบับที่ 2 (34) มกราคม –
มิถุนายน 2559. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
พิรุณรัตน์ เขตจัตุรัส. (2547). การศึกษาวรรณกรรมพื้นบ้านที่มีความสัมพันธ์กับชื่อลายผ้ามัดหมี่ของบ้าน
หนองบัวเพวัง อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ในเชิงคติชนวิทยา. ปริญญานิพนธ์ การศึกษา
มหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (กศ.ม). กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-06-21