จิตรกรรมสีน้ำสร้างสรรค์ชุดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พื้นที่ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและศิลปวัฒนธรรม ในจังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • สืบศักดิ์ สิริมงคลกาล

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสัญญะ อิทธิพล บทบาท หน้าที่ ของอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีที่มีต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดนครราชสีมา และเพื่อสร้างสรรค์จิตรกรรมสีน้ำ ชุดอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พื้นที่ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดนครราชสีมา โดยใช้เครื่องมือเป็นแบบสอบถาม และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก กับกลุ่มประชากรคือ ประชาชนทั่วไป นักวิชาการ ศิลปิน นักการเมืองในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อสรุปความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น มาเป็นกรอบความคิดเพื่อใช้ในการสร้างสรรค์จิตรกรรมสีน้ำ ผลการศึกษาพบว่า
1. อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีมีสัญญะหลายประการต่อชาวจังหวัดนครราชสีมา โดยสรุปได้ดังนี้ สัญญะเชิงการเมืองคือการเป็นศูนย์รวมจิตใจประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นหนึ่งเดียว สัญญะเชิงเศรษฐกิจคือการเป็นเสมือนเครื่องหมายการค้าสำคัญ ที่ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมานิยมนำไปใช้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางการค้า เช่น ตราร้านค้า ป้ายเพื่อการโฆษณา สติ๊กเกอร์ รูปสกรีน วัตถุมงคล เป็นต้น สัญญะเชิงสังคมคือการเป็นเสมือนจุดศูนย์รวมของโครงสร้างสังคมจังหวัดนครราชสีมา ทั้งสถาบันการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา ไปจนถึงสถาบันครอบครัวเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น สัญญะเชิงความเชื่อความศรัทธา คือย่าโมเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นทั้งผู้ปกป้องบ้านเมือง และเป็นทั้งผู้ปัดเป่าความกังวลใจ ความเศร้าใจ ความทุกข์ต่างๆให้กับชาวจังหวัดนครราชสีมา ด้วยการกราบไหว้บูชา หรือบนบานสานกล่าว
2. อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีมีบทบาทและหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมาให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง และเข็มแข็งมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
3. ผลงานจิตรกรรมสีนำทั้ง 15 ชิ้น สามารถนำเสนอปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีในมิติต่างๆ เช่น มิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และศิลปวัฒนธรรมในจังหวัดนครราชสีมาได้เป็นอย่างดี อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ที่ขับเคลื่อนบริบทต่างๆในจังหวัดนครราชสีมาให้เจริญก้าวหน้าในแบบที่เป็นอยู่

Downloads