การพัฒนาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างและการเพิ่มคุณค่า ของแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นภาพลักษณ์ของจังหวัดชัยนาท

Main Article Content

ดร.สยามล เทพทา

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 3 ประการ ได้แก่ (1) เพื่อประเมินศักยภาพสิ่งแวดล้อมสรรค์ด้านสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมของแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาท (2) เพื่อประเมินคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาทในมุมมองของชุมชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้ง (3) เพื่อสร้างแผนพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างและคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาท การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบมีส่วนร่วม กลุ่มตัวอย่างและผู้ให้ข้อมูลหลัก ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก คือ (1) กลุ่มภาคีที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่เป็นภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 27 คน โดยใช้การจัดประชุมกลุ่ม (2) กลุ่มตัวอย่างชุมชนที่อาศัยบริเวณแหล่งท่องเที่ยว จำนวน 125 คน โดยการใช้การสัมภาษณ์และการจัดประชาพิจารณ์ (3) นักท่องเที่ยวชาวไทย โดยสุ่มตัวอย่างแบบทอดสะดวก จำนวน 400 คน ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสะกดรอยเพื่อศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยว และแบบสอบถาม สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา โดยพื้นที่ที่ศึกษามี 5 แห่ง ได้แก่ วัดธรรมามูลวรวิหาร วัดปากคลองมะขามเฒ่า วัดพระมหาธาตุ      สวนนกชัยนาท และเขื่อนเจ้าพระยา


ผลการศึกษา พบว่า (1) แหล่งท่องเที่ยวประเภทประวัติศาสตร์ ส่วนใหญ่ขาดการเสริมสร้างอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ และการพัฒนาพื้นที่ใช้สอยให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนแหล่งท่องเที่ยวประเภทนันทนาการ ขาดการพัฒนาพื้นที่ใช้สอยและภูมิทัศน์ให้เกิดกิจกรรมและความมีอัตลักษณ์ของสถานที่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวซ้ำ นอกจากนี้   ผลการประเมินขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยว พบว่ากิจกรรมการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อแหล่งท่องเที่ยวหลักมากนัก (2) คุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาทในมุมมองของชุมชน โดยทำการประเมินคุณค่าความสำคัญทางวัฒนธรรมในด้านสุนทรียศาสตร์ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า แหล่งท่องเที่ยวหลักของจังหวัดชัยนาทมีศักยภาพโดยรวมค่อนข้างดี ผลการประเมินคุณค่ามีดังนี้ วัดปากคลองมะขามเฒ่ามีคุณค่าความสำคัญมากที่สุด (= 3.75) รองลงมาวัดธรรมามูลวรวิหาร (= 3.25) และเขื่อนเจ้าพระยามีคุณค่าความสำคัญระดับปานกลาง (= 3.00) สำหรับสวนนกชัยนาท (= 2.25) และวัดมหาธาตุ (= 2.00) มีคุณค่าความสำคัญระดับน้อย สำหรับคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาทในมุมมองของนักท่องเที่ยว พบว่าสิ่งที่นักท่องเที่ยวมีความต้องการให้แหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้านการสื่อความหมาย คือ คู่มือท่องเที่ยว ป้ายบอกรายละเอียดของสถานที่ และแผ่นพับ ในด้านความต้องการที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยว คือ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (= 4.27) ความต้องการด้านกายภาพและความงามด้านภูมิทัศน์ของแหล่งท่องเที่ยว (= 4.00)  และความน่าสนใจของสภาพ    ภูมิทัศน์โดยรอบของแหล่งท่องเที่ยว (= 3.99)  สำหรับด้านความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวที่มีต่อแหล่งท่องเที่ยว คือ ความสะดวกในการเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว (= 4.00)  และการคมนาคมในจังหวัด (= 3.88) ในด้านที่ควรมีการปรับปรุง คือ การประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว (= 3.83) ป้ายบอกรายละเอียดของสถานที่ (= 3.75) และการให้ข้อมูล (= 3.66)


         แผนพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างและคุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาท ด้วยการสร้างภูมิลักษณ์ใหม่ให้กับแหล่งท่องเที่ยว และการใช้ภูมิลักษณ์ให้เป็น      อัตลักษณ์และสิ่งดึงดูดใจของแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างให้พื้นที่ใช้สอยใหม่โดยการออกแบบพื้นที่ใช้สอยทางสถาปัตยกรรมและภูมิสถาปัตยกรรมส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ นอกจากนี้การพัฒนาระบบการสื่อความหมายและกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างคุณค่าแก่แหล่งท่องเที่ยว ด้วยวิธีการสื่อความหมายโดยการ สื่อโดยบุคคล ป้ายสื่อความหมาย การจัดนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ และศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้นักท่องเที่ยว และช่วยส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนในแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

Article Details

บท
บทความวิจัย

References

กรมชลประทาน, สำนักชลประทานที่ 12. (2550). 80 พรรษามหาราช ตามรอยพระบาทยาตรา เขื่อนเจ้าพระยา 50 ปี. กรุงเทพฯ: กรมชลประทาน.
กรมประมง. (2552). ข้อมูลปลาน้ำจืดที่สำคัญ (Online). https://www.doae.go.th/pramong/ html/ fishsub47/fishlist.asp, 11 สิงหาคม 2561.
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2561). สถิตินักท่องเที่ยวภายในประเทศ ปี 2560 (จำแนกตามภูมิภาคและจังหวัด) (Online). https://www.mots.go.th/more_news.php?cid=504&filename=index, 31 สิงหาคม 2561.
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน). (2558). ประวัติศาสตร์ชัยนาท. กรุงเทพฯ: มติชน.
เทิดชาย ช่วยบำรุง. (2548). ธนาคารข้อมูลเพื่อการวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน. มปท.
เดชา บุญค้ำ. (2539). การวางผังบริเวณ Site Planning. กรุงเทพฯ: ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นภวรรณ ฐานะกาญจน์. (2542). คู่มือพัฒนาและออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกในแหล่งท่องเที่ยวแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์. กรุงเทพฯ: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
มหาวิทยาลัยศิลปากร. (2530). หนังสือที่ระลึกในงานทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดธรรมามูลวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท. นครปฐม: มหาวิทยาลัยศิลปากร.
สำนวน ปาลวัฒน์วิไชย. (2528). ประวัติพระครูวิมลคุณากร (ศุข). ชัยนาท: มปท. พิมพ์ครั้งที่ 1. สโมสรไลอ้อนส์ชัยนาท ร่วมกับชมรมพระเครื่องชัยนาท.
Burra Charter, The. (1999). The Burra Charter: The Australia ICOMOS Charter for Places of Cultural Significance, Retrieved from World Wide Web on 7 July 2011. https://www.australia.icomos.org/wp-content/uploads/ BURRA_ CHARTER.pdf