ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ทัศนคติ ปริมาณพลังงานที่ได้รับจากอาหารขยะและ ภาวะโภชนาการของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ Relationships between Knowledge, Attitude and Amount of Energy Gained from Junk Food and Nutritional Status o

ผู้แต่ง

  • วรวุฒิ แสงทอง
  • จิราวรรณ แท่นวัฒนกุล

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ  เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้  ทัศนคติ  ปริมาณพลังงานที่ได้รับจากอาหารขยะและภาวะโภชนาการของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์  กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  จำนวน 429 คน  สุ่มโดยวิธีแบ่งกลุ่ม  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย  เครื่องมือประเมินภาวะโภชนาการ  แบบสอบถามวัดความรู้และทัศนคติ  และแบบบันทึกพฤติกรรมการบริโภคอาหารขยะที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น  เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน พ.ศ. 2560  วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และไคสแควร์

ผลการวิจัยพบว่า  กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.1 มีความรู้เกี่ยวกับอาหารขยะในระดับสูง   ร้อยละ 81.1 มีทัศนคติเกี่ยวกับอาหารขยะอยู่ในระดับปานกลาง   มีพฤติกรรมบริโภคอาหารขยะทุกคน ร้อยละ 100   ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.6 บริโภคอาหารขยะในกลุ่มน้อย   และความสัมพันธ์ระหว่างภาวะโภชนาการกับปริมาณพลังงานที่ได้รับจากอาหารขยะมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  0.05   โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีภาวะโภชนาการปกติส่วนใหญ่ ร้อยละ 68 ได้รับปริมาณพลังงานจากอาหารขยะน้อย   สำหรับระดับความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับอาหารขยะไม่มีความสัมพันธ์กับปริมาณพลังงานที่ได้รับจากอาหารขยะ

การวิจัยครั้งนี้  แสดงให้เห็นว่านักเรียนทุกคนบริโภคอาหารขยะ   แต่กลุ่มนักเรียนที่มีภาวะโภชนาการปกติได้รับปริมาณพลังงานจากอาหารขยะในปริมาณน้อย   ดังนั้นพยาบาลที่มีบทบาทในการสร้างเสริมสุขภาพเด็กและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนควรมีบทบาทในการสนับสนุนร้านค้าทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนให้จัดจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น   ซึ่งจะช่วยลดแนวโน้มการเข้าถึงอาหารขยะของนักเรียนลงได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-06-01