ผลของโปรแกรมกลุ่มบำบัดด้วยงานศิลปะต่อความผาสุก ของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และมีภาวะซึมเศร้า The Effects of a Group Art Therapeutic Program on Well-being in Older Adults with Type 2 Diabetes and Depression

ผู้แต่ง

  • กนกวรรณ กาญจนนิกร
  • จิณห์จุฑา ชัยเสนา ดาลลาส
  • ชนัดดา แนบเกษร

บทคัดย่อ

การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมกลุ่มบำบัดด้วยงานศิลปะต่อความผาสุกของผู้สูงอายุโรคเบาหวานชนิดที่ 2 กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และมีภาวะซึมเศร้า ช่วงอายุระหว่าง 60-79 ปี ที่มารับบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในเขตพื้นที่อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 24 คน ทำการสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละเท่า ๆกัน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมกลุ่มบำบัดที่สร้างขึ้นโดยการประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีการพยาบาลการดูแลมนุษย์ของวัตสัน แนวคิดความผาสุกของดูพาย และขั้นตอนการทำศิลปะบำบัดของ เลิศศิริร์ บวรกิตติ กลุ่มทดลองเข้าร่วมโปรแกรมกลุ่มบำบัดด้วยงานศิลปะโดยมีกิจกรรมกลุ่มจำนวน 6 ครั้ง ๆ ละ 60-90 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้วัดผลลัพธ์ของการเข้าร่วมโปรแกรม คือ แบบประเมินความผาสุกโดยทั่วไปของดูพาย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางแบบวัดซ้ำ และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีบอนเฟอโรนี

                    ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทดลองในระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันที และระยะติดตามผล 1 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยความผาสุกแตกต่างกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และ กลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความผาสุกในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลองเสร็จสิ้นทันที แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 แต่ในระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีและระยะติดตามผล 1 เดือน ไม่แตกต่างกัน นำไปสู่ข้อเสนอแนะว่า พยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ควรนำโปรแกรมกลุ่มบำบัดด้วยงานศิลปะไปใช้เป็นแนวทางเพื่อส่งเสริมความผาสุกให้กับผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 และมีภาวะซึมเศร้า

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-06-01