ปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมในการจำหน่ายจากโรงพยาบาลของผู้ปกครองทารกเกิดก่อนกำหนด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ Predicting Factors of Readiness for Hospital Discharge among Parents of Premature Infants in Maharaj Nakorn Chiang Mai Hospital

ผู้แต่ง

  • นงลักษณ์ อินตา
  • ขวัญหทัย กัณทะโรจน์
  • พรพรรณ ดาศรี

บทคัดย่อ

ความพร้อมของผู้ปกครองในการจำหน่ายทารกเกิดก่อนกำหนดจากโรงพยาบาล เป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านจากโรงพยาบาลไปสู่การดูแลและพักฟื้นที่บ้าน การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงความสัมพันธ์แบบทำนาย เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความพร้อมในการจำหน่ายจากโรงพยาบาลของผู้ปกครองทารกเกิดก่อนกำหนดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กลุ่มตัวอย่างเป็นเป็นบิดา/มารดาหรือผู้ดูแลทารกเกิดก่อนกำหนดที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ระหว่างเดือนตุลาคม 2557 ถึง เดือนมิถุนายน 2559 จำนวน 157 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบประเมินข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดความพร้อมในการจำหน่ายจากโรงพยาบาลฉบับบิดา/มารดา แบบประเมินคุณภาพการสอนก่อนจำหน่ายฉบับบิดา/มารดา และ แบบสอบถามการประสานการดูแล วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติบรรยาย สหสัมพันธ์เพียร์สัน สหสัมพันธ์เปียร์แมน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อีต้า และ การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน

ผลการวิจัยพบว่า รายได้เฉลี่ยของครอบครัว คุณภาพการสอนก่อนจำหน่ายจากโรงพยาบาล และการประสานการดูแลก่อนจำหน่าย มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความพร้อมในการจำหน่ายจากโรงพยาบาล (rs =.19, p<.05; r =.58, p<.001; และ r =.51, p<.001 ตามลำดับ) โดยคุณภาพการสอนก่อนจำหน่ายและการประสานการดูแลก่อนจำหน่าย เป็นปัจจัยที่ทำนายความพร้อมในการจำหน่ายจากโรงพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = .46, p<.001; β = .20, p<.05 ตามลำดับ) โดยสามารถร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของความพร้อมในการจำหน่ายจากโรงพยาบาลได้ร้อยละ 36.4  ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเตรียมความพร้อมผู้ปกครองก่อนจำหน่ายทารกเกิดก่อนกำหนดออกจากโรงพยาบาลและเป็นแนวทางในการพัฒนาแผนการจำหน่ายทารกเกิดก่อนกำหนดในโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-06-01