ความรู้เกี่ยวกับการประเมินและการจัดการกับความปวดของพยาบาลไทย Knowledge about Pain Assessment and Management of Thai Nurses

ผู้แต่ง

  • ศรีสุดา งามขำ
  • นิสา ครุฑจันทร์
  • จุฑารัตน์ สว่างชัย
  • บุญเตือน วัฒนกุล
  • ศศิธร ชิดนายี
  • รุ่งนภา เขียวชะอ่ำ

บทคัดย่อ

การประเมินความปวดเป็นสัญญาณชีพที่สำคัญของกระบวนการพยาบาลเพื่อบรรเทาความปวดที่มีคุณภาพมากขึ้น พยาบาลวิชาชีพเป็นบุคลากรสำคัญในการประเมินและจัดการกับความปวดให้กับผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ตาม พยาบาลวิชาชีพไทยยังมีความรู้และทัศนคติเกี่ยวกับความปวดอย่างถูกต้องจำนวนน้อย  การวิจัยแบบภาคตัดขวางนี้เพื่อประเมินความรู้ของพยาบาลวิชาชีพเกี่ยวกับการประเมินและการจัดการกับความปวดของพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลตติยภูมิ เพื่อพรรณนาข้อมูลพื้นฐานสำคัญของการบริการสุขภาพด้านการจัดการความปวด โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างเลือกแบบสุ่ม (Simple random sampling) และจับฉลากเลือกสถานที่เก็บข้อมูลจากพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยใน โรงพยาบาลระดับตติยภูมิ กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจำนวน 535 คน ตอบแบบสอบถามความรู้และทัศนคติต่อการประเมินและการจัดการกับความปวด (Knowledge and Attitude Survey Regarding Pain) ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน จำนวน 47 ข้อ ได้แก่ คำถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล ความรู้เกี่ยวกับความปวด และกรณีศึกษาการประเมินความปวดและการจัดการความปวด แบบสอบถามนี้มีระดับความเชื่อมั่น KR-20 เท่ากับ 0.7

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีประสบการณ์ปฏิบัติงานเฉลี่ย 15 ปี คะแนนเฉลี่ยของระดับความรู้ เท่ากับ 19.35 (SD=3.95) คะแนน จากคะแนนเต็ม 40 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 48.4 เมือเปรียบเทียบความรู้เกี่ยวกับการจัดการความปวด จำแนกตามระดับการศึกษา ระยะเวลาของประสบการณ์ และประวัติการอบรมเกี่ยวกับความปวด พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)

จากผลการวิจัยนี้ พยาบาลวิชาชีพมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการความปวดระดับต่ำ พยาบาลวิชาชีพจึงควรเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับความปวดโดยการเข้ารับการอบรมระยะสั้นหรือเรียนต่อในระดับที่สูงอาจจะส่งเสริมให้เกิดทักษะและสามารถประเมินและจัดการความปวดเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานจากความปวดให้ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-06-01