ผลของโปรแกรมส่งเสริมการรับรู้ความสามารถและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อการควบคุมน้ำหนักเด็กวัยก่อนเรียนที่มีภาวะอ้วน Effects of a parent Self-Efficacy and Outcome Expectation promotion program on weight control among preschool children with obesity

ผู้แต่ง

  • สุธิภรณ์ ศรีประโชติ
  • จิราวรรณ แท่นวัฒนกุล
  • จุฬาภรณ์ ตั้งภักดี

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง แบบกลุ่มเดียว มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมการรับรู้ความสามารถและความคาดหวังของผู้ปกครองต่อการควบคุมน้ำหนักเด็กวัยก่อนเรียนที่มีภาวะอ้วนอายุ 2-5 ปี ในศูนย์สาธิตการพัฒนาเด็ก คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสร้างจากกรอบแนวคิดทฤษฎีความสามารถของตนของแบนดูรา กลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 14 คน สุ่มแบบเจาะจง โดยกลุ่มตัวอย่างได้รับโปรแกรม ประกอบด้วย สื่อคู่มือ วีดิทัศน์ และนิทาน ใช้ระยะเวลา 4  เดือน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบบันทึกน้ำหนักเด็ก และแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ หาค่าความเที่ยงโดยใช้สัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค เท่ากับ 0.80 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติค่าเฉลี่ยและสถิติค่าที

ผลการวิจัยพบว่า 1) ค่าเฉลี่ยคะแนนการรับรู้ความสามารถของผู้ปกครองในการควบคุมน้ำหนักเด็กวัยก่อนเรียนที่มีภาวะอ้วนหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  2) ค่าเฉลี่ยคะแนนความคาดหวังของผู้ปกครองในการควบคุมน้ำหนักเด็กวัยก่อนเรียนที่มีภาวะอ้วน หลังการทดลองไม่มีความแตกต่างจากก่อนการทดลอง 3)น้ำหนักเด็กหลังการทดลองกับน้ำหนักเป้าหมายแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่ง หมายถึง การวิจัยไม่สามารถควบคุมน้ำหนักเด็กได้ตามเป้าหมาย

จากผลการวิจัยมีความสอดคล้องกับทฤษฎีของแบนดูรา ที่กล่าวถึง การรับรู้ความสามารถและความคาดหวัง จะส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พบว่า ค่าคะแนนการรับรู้ความสามารถของผู้ปกครองสูงขึ้น ส่วนค่าคะแนนความคาดหวังต่ำ จึงส่งผลให้ผู้ปกครองมีแนวโน้มจะไม่ทำการควบคุมน้ำหนักเด็ก ดังนั้น น้ำหนักเด็กจึงไม่สามารถควบคุมได้ตามเป้าหมาย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-06-01