การพัฒนาโรงเรียนเบาหวานโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน Establishing diabetes mellitus school by community participation

ผู้แต่ง

  • ศุภวรรน ยอดโปร่ง
  • ลัฆวี ปิยะบัณฑิตกุล

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยเบาหวาน โรงเรียนเบาหวาน การมีส่วนร่วมของชุมชน

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโรงเรียนเบาหวานที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยโรคเบาหวาน บ้านเด่นโบสถ์โพธิ์งาม หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยใช้แนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นกรอบในการศึกษา ดำเนินการตามกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ 4 ระยะ มีผู้ให้ข้อมูลหลัก ประกอบด้วย ผู้ป่วยเบาหวาน  63 คน ผู้ดูแล 6 คน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 8 คน ผู้นำชุมชน 3 คน ผู้นำท้องถิ่น  2 คน และผู้ให้บริการด้านสุขภาพ  1 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ แนวคำถามการสัมภาษณ์เชิงลึก แนวคำถามการสนทนากลุ่ม และแนวทางการสังเกต ดำเนินการศึกษาระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ.2559 ถึง มิถุนายน พ.ศ. 2560  วิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา

ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ของผู้ป่วยเบาหวาน มี 5 ด้านหลัก ได้แก่ 1) ด้านบุคคล ผู้ป่วยเบาหวานมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพไม่เหมาะสม เช่น  การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด การรับประทานยา/ฉีดยา การป้องกันภาวะแทรกซ้อน และ ผู้ป่วยมีการรับรู้ที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวโรคเบาหวาน และวิธีการปฏิบัติตัว  2) ด้านครอบครัว ผู้ดูแลยังขาดความรู้และไม่เข้าใจบทบาทของตนเองในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จึงมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยน้อย 3) ด้านสังคม/ชุมชน อสม. ผู้นำชุมชน  และผู้นำท้องถิ่น ยังไม่ทราบบทบาทในการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมของผู้ป่วย 4) ด้านวัฒนธรรม ผู้ป่วยมีวิถีชีวิตภายใต้ความเชื่อและศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในชุมชน เช่น การรับประทานอาหารและขนมหวานจากงานบุญ หรืองานมงคลในเทศกาลต่างๆ จะทำให้หายจากโรค หรืออาการของโรคดีขึ้นได้ และ 5) ด้านระบบบริการสุขภาพ โดยกิจกรรม/โครงการต่างๆที่ผ่านมาจัดกิจกรรมไม่ตอบความต้องการของผู้ป่วย และขาดความต่อเนื่องในการดำเนินกิจกรรม การจัดตั้งโรงเรียนเบาหวานจึงเป็นคำตอบที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการดำเนินงานเพื่อจัดการปัญหาโรคเบาหวานในชุมชน ผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยจึงได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบหลักสูตรและการดำเนินงานของโรงเรียน

หลักสูตรโรงเรียนเบาหวานได้ออกแบบบนฐานคิดการดูแลสุขภาพองค์รวม  ประกอบด้วย 6 วิชา ได้แก่ 1) วิชารู้ทันเบาหวานและการพัฒนาตน  2) วิชาลดหวานจัดการสุขภาพ  3) วิชาพัฒนาจิตพิชิตความเครียด  4) วิชาขยับกายสลายโรค และ 5) วิชาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสุขภาพ และ6) วิชาสร้างงาน สร้างสุข ระยะเวลาเรียน 12 สัปดาห์ และเปิดรับผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ และผู้สนใจ ผลการดำเนินงานของโรงเรียน พบว่า มีผู้ป่วยและผู้สนใจในชุมชน เข้าร่วม 25 คน ผู้ป่วยเบาหวานมีค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลสะสมในเลือดลดลงร้อยละ 88 และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพในทิศทางดีขึ้น ร้อยละ 96 และชุมชนมีรูปแบบการจัดการดูแลผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนซึ่งเกิดจากผู้วิจัยและผู้ร่วมวิจัยร่วมคิด ร่วมวิเคราะห์ ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติการ และร่วมประเมินผลทุกกระบวนการ ทำให้การแก้ไขปัญหาของผู้ป่วยเบาหวานเป็นไปตามความต้องการ และสอดคล้องกับบริบทชุมชนและวัฒนธรรม  ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ และลดระดับน้ำตาลสะสมในเลือดได้ 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-08-11