ผลของการใช้สื่อนวัตกรรมฮัก(รัก)ไตต่อความรู้ ความเชื่อการปฏิบัติตนของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง Effect of Using Haktai Tool Innovative on Knowledge, Believe and Health Behaviors in Chronic Kidney Disease

ผู้แต่ง

  • ปราณี แสดคง
  • ศรีสุดา ลุนพุฒ
  • สุรัสวดี พนมแก่น
  • กันนิษฐา มาเห็ม
  • เดือนฉาย พรเพ็ง

คำสำคัญ:

การใช้สื่อนวัตกรรมฮัก(รัก)ไต ความรู้ ความเชื่อ การปฏิบัติตน ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

บทคัดย่อ

การวิจัยกึ่งทดลองนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้สื่อนวัตกรรมฮัก(รัก)ไตต่อความรู้ ความเชื่อ และการปฏิบัติตนของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคไตเรื้อรังที่อาศัยในพื้นที่ชุมชนวัดหนองแวงพระอารามหลวง จำนวน 30 ราย เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ดำเนินการวิจัยแบบ one group pretest – posttest  design เปรียบเทียบก่อนและหลังการทดลอง โดยกลุ่มตัวอย่างจะได้รับการประเมินความรู้ ความเชื่อ และการปฏิบัติตนก่อนการให้ความรู้ หลังจากนั้นกลุ่มตัวอย่างจะได้รับการสอนความรู้เรื่องโรคไต การรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรค การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยการใช้สื่อนวัตกรรมฮัก(รัก)ไต หลังการให้ความรู้ 4 สัปดาห์ กลุ่มตัวอย่างจะได้รับการประเมินหลังให้ความรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ สื่อนวัตกรรมฮัก(รัก)ไต ประกอบด้วย เครื่องฮัก(รัก)ไต วงล้อฮัก(รัก)ไต และคู่มือฮัก(รัก)ไต เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม ประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป ความรู้เรื่องโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไต การรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน และการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนโรคไตจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งแบบสอบถามมีการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ 3 คน และหาความเชื่อมั่นของการรับรู้โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน และการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนโรคไตจากโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงโดยใช้ค่า Cronbach’s alpha ได้เท่ากับ 0.78 และ 0.72 ตามลำดับ ความรู้เรื่องโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่มีภาวะแทรกซ้อนทางไตใช้ K-R 20 ได้เท่ากับ 0.74 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าสถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบความรู้ ความเชื่อ และการปฏิบัติตนก่อนและหลังการทดลองด้วยสถิติ t-test dependent

ผลการวิจัย พบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยของความรู้และการปฏิบัติตัวของกลุ่มตัวอย่างก่อนและหลังทดลองมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.001) ส่วนค่าคะแนนความเชื่อของกลุ่มตัวอย่างก่อนและหลังการทดลองไม่แตกต่างกัน การวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การใช้สื่อนวัตกรรมฮัก(รัก)ไตมีผลต่อความรู้ และการปฏิบัติตนของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพื่อชะลอภาวะไตเสื่อม

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-27