รูปแบบการป้องกันภาวะน้ำเกินในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ฟอกเลือดด้วย เครื่องไตเทียม

ผู้แต่ง

  • ณัฐวรา ทัศบุตร
  • จิระภา ศิริวัฒนเมธานนท์
  • สุพัตรา บัวที

คำสำคัญ:

รูปแบบการป้องกันภาวะน้ำเกิน โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

บทคัดย่อ

การวิจัยเชิงปฏิบัติการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการป้องกันภาวะน้ำเกินในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โรงพยาบาลอำนาจเจริญ ผู้เข้าร่วมวิจัยเป็นพยาบาล 4 คน  ผู้ป่วยที่มารับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 24 คน และผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำเกิน 10 คน ดำเนินการวิจัย 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาสถานการณ์ปัญหาของผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ระยะที่ 2 กระบวนการพัฒนารูปแบบการป้องกันภาวะน้ำเกิน และระยะที่ 3 ผลลัพธ์ของการใช้รูปแบบการป้องกันภาวะน้ำเกิน  การประเมินน้ำเกิน ประเมินจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการฟอกเลือด สถิติที่ใช้ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ Paired t-test และใช้การวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า ปัญหาภาวะน้ำเกินเป็นปัญหาที่สำคัญ ในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รูปแบบการป้องกันภาวะน้ำเกินในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ประกอบด้วย การให้ความรู้  การกำหนดเป้าหมายเพื่อป้องกันภาวะน้ำเกิน การจัดทำสมุดบันทึกประจำตัวผู้ป่วย การประเมินภาวะน้ำเกิน และการสร้างพลังอำนาจ และหลังการทดลองผู้ป่วยมีน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างการฟอกเลือดหลังการทดลองน้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01

สรุปได้ว่ารูปแบบการป้องกันน้ำเกินในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมีประสิทธิภาพในการป้องกันภาวะน้ำเกิน   ดังนั้น พยาบาลควรนำรูปแบบนี้ไปใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล การศึกษาครั้งต่อไปควรเป็นวิจัยเชิงทดลองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของรูปแบบการป้องกันภาวะน้ำเกินในผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนี้

Downloads