ประสิทธิผลของการใช้แนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ The Effectiveness of using the Patient’s Ventilator Care Protocol

ผู้แต่ง

  • นิภาดา ธารีเพียร
  • ฐิตินันท์ วัฒนชัย
  • มนพร ชาติชำนิ

คำสำคัญ:

แนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ความสำเร็จในการหย่าเครื่องช่วยหายใจ ผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงพัฒนา (Developmental research) เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจต่อผลลัพธ์หลังการใช้แนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน: 1) กำหนดประเด็นปัญหาและวิเคราะห์สาเหตุ 2) แก้ไขปัญหาโดยพัฒนาแนวปฏิบัติของการดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจจากหลักฐานเชิงประจักษ์ 3) นำแนวปฏิบัติฯที่พัฒนาขึ้นไปใช้ โดยกลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเฉพาะเจาะจง แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ พยาบาลวิชาชีพและผู้ป่วยที่ได้รับการใช้เครื่องช่วยหายใจในหอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงาน จำนวน 18 คน ซึ่งทำการทดสอบความรู้ อบรมเชิงปฏิบัติการ ฝึกปฏิบัติจริง และสังเกตผลการปฏิบัติงาน ระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม พ.ศ. 2559           4) สะท้อนผลลัพธ์การปฏิบัติ โดยประชุมแลกเปลี่ยน และ 5)  ปรับปรุง สรุปและจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติฯ  หลังจากนั้นนำแนวปฏิบัติฯไปใช้จริง กับกลุ่มผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมชายที่ได้รับการใส่ท่อหลอดลมคอและใช้เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 716 ราย  โดยติดตามผลลัพธ์จากเวชระเบียนหลังการใช้แนวปฏิบัติฯ ระหว่างเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 – กันยายน พ.ศ. 2560 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ  ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสถิติ Paired t-test

                         ผลการวิจัย พบว่า ภายหลังพยาบาลได้รับการอบรมความรู้การใช้แนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้ของพยาบาลสูงกว่าก่อนการได้รับการอบรมความรู้ฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) ในทุกด้าน ผลลัพธ์ด้านผู้ป่วย พบว่า ความสำเร็จในการหย่าเครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 92.32)   การเกิดการเลื่อนหลุดของท่อช่วยหายใจโดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า และใส่ท่อช่วยหายใจและท่อหลอดลมคอซ้ำลดลง (ร้อยละ 8.10)  จำนวนวันในการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลงอยู่ระหว่าง 4 – 30 วัน เฉลี่ย 14 วัน

                   จากผลการวิจัยในครั้งนี้พยาบาลควรได้รับการอบรมความรู้ในการใช้แนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดจนการค้นหาสาเหตุ  นำไปสู่การแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยอย่างมีวิจารณญาณบนพื้นฐานของหลักฐานเชิงประจักษ์ ด้วยการประเมินความพร้อมการหย่าเครื่องช่วยหายใจและการตัดสินใจในการหย่าเครื่องช่วยหายใจได้สำเร็จและปลอดภัย เพื่อการดูแลผู้ป่วยที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-03-29